E-DUANG : ทบ. ยุค หลวงพิบูลสงคราม ทบ.ยุค อภิรัชต์ คงสมพงษ์

การที่กองทัพบกยกประเด็น”ห้องบวรเดช”ขึ้นชูสูงเด่นในห้วงแห่ง 88 ปีของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มั่นใจได้เลยว่ามิได้เป็นเพียงอาการวูบวาบทางการเมืองอย่างแน่นอน

เพราะหากมองภาพของบุคลากรที่เข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนา ณ กองบัญชาการกองทัพบก

5 เสือแห่ง”สำนักบังคับบัญชา”อยู่กันอย่างคึกคัก

ด้านหนึ่ง มีการยกย่องตัวบุคคลจาก”กบฎบวรเดช”อันเป็นสถานการณ์ซึ่งปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2476

ด้านหนึ่ง มีการกดเหยียบเหตุการณ์การยึดอำนาจเมื่อเช้ามืดของวันที่ 24 มิถุนายน 2476 ให้เป็นรัฐประหารซึ่งมีความต้องการจะล้มสถาบันกษัตริย์

เด่นชัดว่าการกดเหยียบบทบาทของ”คณะราษฎร”ก็เพื่อที่จะชูบทบาทของ”กบฎบวรเดช”ให้สูงเด่น

นี่ย่อมเป็นประเด็นอันแหลมคมยิ่งในทาง”ความคิด”

สร้างความเชื่อมั่นเป็นอย่างสูงว่า กองทัพบกจะต้องตระเตรียม ทีมในทางวิชาการไว้อย่างพร้อมมูล

พิสูจน์ความยิ่งใหญ่ ยอดเยี่ยมแห่งวีรกรรมของ”กบฎบวรเดช”

 

พลันที่กองทัพบกนำเสนอพื้นที่ให้กับ”ห้องบวรเดช”ขณะที่มีปฏิบัติการลบเลือนความทรงจำอันเกี่ยวกับสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 อย่างต่อเนื่อง

การจะลบ”ประวัติศาสตร์”ให้พังราบเป็นผงฝุ่นมีความจำเป็นต้องเอาชนะในทาง”ความคิด”ลงให้ได้อย่างถึงรากฐาน

ไม่ว่าจะเป็นรากฐานแห่ง”ปฏิวัติ”กับรากฐานแห่ง”กบฎ”

เวลาที่ผ่านมา 88 ปีอาจเนิ่นนานเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่เนิ่นนาน ถึงกับไม่มีหลักฐานทั้งในทางวัตถุ ทั้งในทางเอกสาร คงเหลืออยู่ให้พิสูจน์ทราบ

งานนี้จึงจำเป็นต้องมีทีมในทาง”วิชาการ”ที่มีสถานะและมีเกียรติภูมิในทางสังคมเสนอตัวเข้ามานำหลักฐานใหม่ การตีความใหม่ ที่อธิบายและเสริมเกียรติภูมิให้กับ “กบฎบวรเดช”

นี่ย่อมเป็นการลับคม สร้างพื้นที่ในทาง”ความคิด”อันทรงความ หมายยิ่งในทางประวัติศาสตร์

 

น่ายินดีที่ข้อเสนอว่าด้วย”ห้องบวรเดช”เป็นการจัดทำและนำเสนอมาโดย”กองทัพบก”

เป็นกองทัพบกยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ซึ่งจะต้องหักล้างกับกองทัพบกยุค พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งมีส่วนในการปราบ”กบฎบวรเดช”อย่างมีนัยสำคัญ