E-DUANG : จากกองทัพบก ถึง “ศรีบูรพา” มุมมอง ต่อกรณี”กบฎบวรเดช”

การจัดบวงสรวง ยกย่องความยิ่งใหญ่ของ “กบฎบวรเดช” ของกองทัพบกในวาระแห่ง 88 ปี วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นพิธีกรรม รำลึกอันทรงความหมายยิ่งในทางประวัติศาสตร์

ทั้งๆที่ “กบฎบวรเดช” ก่อการขึ้นเพื่อล้มล้างอำนาจรัฐในการยึดกุมของ “คณะราษฎร”

ทั้งๆที่เป็นการก่อการขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2476

ห่างจากวาระแห่งการยึดอำนาจของ”คณะราษฎร”เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กว่า 1 ปี

แค่การที่กองทัพบกเปิดห้องบวรเดชประสานกันไปกับห้องศรีสิทธิสงครามขึ้นในกองบัญชาการ ก็ถือว่าเป็นการย้อนแย้งต่ออุบัติแห่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างยิ่งอยู่แล้ว

นี่ยังจัดงานอย่างอึกทึกครึกโครมในวันเดียวกันกับที่มีการรำลึกถึงในวาระ 88 ปีของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อีกด้วย

จึงถือได้ว่าเป็นการดับเครื่องชนอย่างสำคัญยิ่งในทางความคิด

 

บทบาทของกองทัพในเดือนมิถุนายน 2563 จึงไม่เพียงแต่เป็นการท้าทายต่อการยึดอำนาจอันมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เท่านั้น

หากในทาง”ประวัติศาสตร์”ยังเป็นการท้าทายต่อความเป็นจริงและข้อมูลอันปรากฏผ่านเอกสารสำคัญ 2 เอกสาร

1 คือหนังสือ”ปฏิวัติ 2475”ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์

และ 1 คือ เรื่องสั้นชื่อ”เทิดรัฐธรรมนูญ”อัน กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนในนาม “ศรีบูรพา”

กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2476 โดยเฉพาะ

ใครก็ตามที่ได้อ่านงาน ไม่ว่าในนามของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่ว่าในนามของ “ศรีบูรพา” ย่อมรับทราบรายละเอียดของเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2476 ในอีกด้าน

เป็นอีกด้านอันแตกต่างไปจากมุมมองและบทสรุปของกองทัพบกต่อ 2475 และ 2476

 

ไม่ว่างานเขียนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ของ”ศรีบูรพา” ไม่ว่าการตัดสินใจของ “กองทัพบก” ต่อการประเมินและให้ความหมายต่อการเกิดขึ้นของ”กบฎบวรเดช”

จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูงทั้งในทาง”ความคิด”และในทาง “การเมือง” ก่อให้เกิดการถกเถียง โต้แย้ง สนับสนุนเห็นด้วย

      ก่อให้เกิดการค้นคว้า ลงลึกไปในความเป็นจริงอันเกิดขึ้นเมื่อปี 2475 และเมื่อปี 2476