E-DUANG : ปะทะ ในทาง “วัฒนธรรรม” สิตางค์ ส้มหยุด บุ๋ม ปนัดดา

การปะทะระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับ สิตางค์ ส้มหยุด ดำเนินไปเหมือนกับการปะทะระหว่าง “เอ๋ ปารีณา” กับ “บุ๋ม ปนัดดา”

คือ การปะทะระหว่างความคิด ความเชื่อ

1 เป็นความเชื่อที่ดำรงอยู่กับ “อดีต” ขณะที่ 1 เป็นความเชื่อที่ดำรงอยู่กับ “ปัจจุบัน”

ความเชื่อแรกมองไม่เห็น”พลวัตร” มองไม่เห็น”พัฒนาการ”

ความเชื่อหลังสัมผัสได้ในความเปลี่ยนแปลง รับรู้ถึงสภาวะแห่งอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน

แม้ว่า 2 ความเชื่อนี้จะเข้ามาอยู่ใน”เทคโนโลยี”ใหม่

แต่ในเมื่อเป็นความเชื่อที่มองไม่เห็นพลวัตรมองไม่เห็นความ เปลี่ยนแปลง จึงถนัดในการใช้อำนาจ จึงสันทัดในการข่มขู่และบังคับ

สะท้อนท่วงทำนอง”เผด็จการ” สะท้อนความเคยชินในการรวบอำนาจ

 

อำนาจบางอำนาจแสดงออกผ่านกระบวนการบังคับ โดยการสั่งให้ลบรายละเอียดอันปรากฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง อ้างเรื่องศาส นา อ้างเรื่องอาจทำความเสื่อมเสียเป็นมลทิน

เป็นมลทินให้กับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความเสื่อมเสียให้กับโบสถ์วิหาร

เพราะเหลิงลอยลมไปกับอำนาจอันหยาบและดิบ

จึงถลำลึกลงไปในถ้อยคำข่มขู่ ไต่ไปบนเส้นลวดแห่งความไม่สุภาพ รุนแรงมากยิ่งขึ้นกระทั่งเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต

ทั้งชีวิตส่วนตัว ทั้งชีวิตทางการเมือง

แม้ไม่ปรากฏ”ปฏิกิริยา”ในทางสังคม แต่การแสดงออกในเชิงประจักษ์ก็ทำให้สามารถแยกจำแนกออกได้ว่า ฝ่ายใดเหมาะ ฝ่ายใดไม่เหมาะ

ที่เคยแสดงอำนาจบาตรใหญ่อย่างได้ผล กลับต้องประสบเข้ากับกระแสต้านในทางสังคม

มิอาจเดินหน้าวางอำนาจ บาตรใหญ่ไปได้เหมือนในอดีต

 

หากมองเข้าไปในสังคมโดยองค์รวม ภาพแห่งการปะทะขัดแย้งในความคิด ในความเชื่อเหมือนที่เกิดขึ้นกับ สิตางค์ สัมหยุด เหมือน ที่เกิดขึ้นกับ บุ๋ม ปนัดดา

กำลังกลายเป็นความปรกติ สามารถเกิดและปรากฏได้ในแทบจะทุกพื้นที่ในทางความคิด ในทางการเมือง

อำนาจที่เคยยิ่งใหญ่เริ่มถูกท้าทาย สั่นคลอน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่