E-DUANG : สถานะ แคลงคลาง น่ากังขา ของ 250 ส.ว. ผลผลิต คสช.

ปฏิกิริยาในทางสังคมต่อ 250 ส.ว. เป็นปฏิกิริยาอันสัมพันธ์กับรัฐ บาล เป็นปฏิกิริยาอันสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแนบแน่น

เป็น “ปฏิกิริยา” อันเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปในลักษณะ อันเป็น “ตัวแทน”

ดังที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เรียกว่าเป็น PROXY

ไม่เพียงเพราะว่า 250 ส.ว.มีภารธุระสำคัญอยู่ที่การขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็น”นายกรัฐมนตรี”เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 เท่านั้น

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากหลังจากการขานชื่อนั้นแล้วบท บาทของ 250 ส.ว.ก็แทบไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเล่นบท ปกป้อง คุ้มครอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในแบบ”ห้อยโหน”

ความรู้สึกรังเกียจ เหยียดหยามกระทั่งก่อให้เกิดคำถาม # ส.ว.มีไว้ทำไม จึงได้ดังกระหึ่ม

 

อาการกระหึ่มอันดำเนินไปตามกระแส # ส.ว.มีไว้ทำไม จึงเป็นอาการกระหึ่มจากพื้นฐานในทาง “ความคิด”

เป็นการปักธงในทางความคิดจากกลุ่มเล็กๆกลุ่มแคบๆ

นั่นก็คือ การแสดงออกของภาคีของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตามโรงเรียน ตามวิทยาลัยและตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเป็นเพียงการเคลื่อนไหวในโลกของ”โซเชียล มีเดีย”

ในเบื้องต้นการเคลื่อนไหวนี้ผ่าน # ส.ว.มีไว้ทำไม อาจถูกมองอย่างดูแคลนว่า ไม่น่าจะเป็น “กระแส” ไม่น่าจะ “จุดติด”ในทาง “ความคิด”

เนื่องจากมีอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เนื่องจากต้องประสบกับการประกาศและบังคับใช้พรก.บริหารราช การในสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่แล้ว # ส.ว.มีไว้ทำไม ก็กลายเป็น”ไวรัล”แพร่กระจายกว้างขวาง ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลอันเป็นจุดอ่อนของ 250 ส.ว.กลายเป็น”กระแส”

 

กระแสในที่นี้มิได้อยู่ที่การออกจากช่องทาง”โซเชียล มีเดีย”ไปสู่การเคลื่อนไหวที่เป็นจริงในทางกายภาพ หากแต่อยู่ที่เริ่มได้รับการสนองตอบจาก”สื่อ”กระแสหลัก

เริ่มปรากฏเป็นข่าวผ่านช่องทาง “โทรทัศน์” เริ่มปรากฏเป็นข่าวและบทวิเคราะห์ผ่านช่องทาง”หนังสือพิมพ์”

กลายเป็นประเด็น กลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

สายตาที่ทอดมองเริ่มแคลงคลาง กังขา

ที่สำคัญก็คือ ทำงานไม่คุ้มกับค่าของเงินเดือนที่รีดผ่านภาษีจากประชาชน