E-DUANG : จาก 6 ปี รัฐประหาร 2557 ถึง วันที่ 24 มิถุนายน 2563

ไม่ว่าการปรากฏขึ้นของ # ตามหาความจริง ดำเนินไปตามวงรอบและเทศกาล ไม่ว่าการปรากฏขึ้นของ “ป้ายผ้า” ดำเนินไปตามวงรอบและเทศกาล

โดยอย่างแรกเป็นวงรอบและเทศกาลเนื่องในวาระ 10 ปีของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553

โดยอย่างหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ครบ 10 ปี

เรียกตามสำนวนอันมาจากกระทรวงกลาโหม อันมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ การแสดงออกเชิง”สัญลักษณ์”เป็นการเน้นย้ำในทาง “ความคิด”

เกิดขึ้นมาและก็ค่อยๆจางหายสลายไปเมื่อมีการแสดงออกใหม่เข้ามาแทนที่

กระนั้น กลไกแห่ง”อำนาจรัฐ”ก็ไม่ยอมให้”แสดงออก”

 

เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบตรูกันเข้าไปล้อม “ป้ายผ้า” ไม่ว่าจะเป็น ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น ณ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็น ณ บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม. ไม่ว่าจะเป็น ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขอนแก่น

ก็เห็นลักษณะอันขึงขัง จริงจังของ”เจ้าหน้าที่”

เหมือนกับที่เคยขึงขังและจริงจังต่อกรณี”ขันแดง”ในเทศกาล สงกรานต์ และที่เคยขึงขังและจริงจังต่อกรณีปฏิทินซึ่งมีภาพของ นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ด้านหนึ่ง สะท้อนความเคร่งครัดต่อ”กฎหมาย” ด้านหนึ่ง สะท้อนความหวาดกลัวในทางการเมือง หวั่นว่าหากปล่อยให้ผ่านเลยก็จะกลายเป็น”แฟชั่น”แพร่ระบาด

ความหวาดกลัวต่างหากที่ทำให้สถานการณ์เชิงสัญลักษณ์เช่นนี้เป็นเรื่องอึกทึก ครึกโครม

6 ปีแล้วที่สังคมประเทศไทยตกอยู่ในสภาพการณ์เช่นนี้

 

หากประเมินว่า ปฏิบัติการ # ตามหาความจริง ปฏิบัติการ”ป้ายผ้า” ดำเนินไปตามเทศกาล 10 ปีพฤษภาคม 2553 และ 6 ปีพฤษ ภาคม 2557

ก็พอคาดได้เลยว่าพลันที่ย่างเข้าเดือนมิถุนายนจะต้องเกิดปรากฎการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เพราะนั่นหมายถึงเหตุเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 หวนมาเยือน

เนื่องจากเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือวันแห่งการ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

วันนี้สำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์ วันนี้สำคัญอย่างยิ่งในทางการเมือง

เป็นการเมืองอันต่อเนื่องจาก 6 ปีรัฐประหาร เป็นการเมืองอันต่อเนื่องจาก 10 ปีเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคมซึ่งมีการสังหารประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย