E-DUANG : ความคิด สายเหยี่ยว พิราบ ในสถานการณ์ ไวรัสระบาด

ไม่เพียงแต่สถานการณ์ในการปราบปราม”คอมมิวนิสต์”จะก่อให้เกิดความคิดแบบ”เหยี่ยว” กับ ความคิดแบบ”พิราบ”ขึ้นมาต่อสู้กันและกัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสก็ก่อให้เกิดความคิดแบบ “เหยี่ยว”และแบบ”พิราบ”ขึ้น

ถามว่าอะไรคือตัวอย่างแยกจำแนก 2 ความคิดนี้

ตัวอย่างที่เด่นชัดอย่างที่สุดเห็นได้จากเมื่อมีข้อเสนอให้คลายล็อกจากมาตรการ”เข้ม”ก็มีเสียงสำทับยืนยันตามมาว่า ต้องให้ไวรัสเหลือ 0 หรือไม่มีเลยเท่านั้นจึงจะคลาย

ตราบใดที่ยังมีการแพร่ระบาด ตราบใดที่ยังมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยจากโควิด มาตรการ”เข้ม”ต้องดำเนินต่อไป

นี่แหละคือเงาสะท้อนของ”เหยี่ยว”ทางด้าน”สุขภาพ”

 

ความคิดในแบบ”เหยี่ยว”เกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปในท่วงทำนองแบบเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับมาตรการ ในทาง”การทหาร”

บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดความคิด”เหยี่ยว”จึงทำงานเข้าขาอย่างเป็นพิเศษกับบุคลากรทางการทหาร

ประสานและร่วมมือกันราวปี่กับขลุ่ย ถนัดร้องเพลงมาร์ช

เมื่อสถานการณ์ไวรัสมีปริมาณการขยายตัวลดลงก็ยกความดีความชอบให้กับเคอร์ฟิว ให้กับการติดล็อก แต่มิได้มองถึงบทบาทของอสม. มิได้มองถึงบทบาทของนักระบาดวิทยา

กลับชื่นชมกับการจับนักการพนัน กับการจับนักเลงเหล้า กับการควบคุมนักนิยมปาร์ตี้ การขยายผลไปสู่การจัดระเบียบของการค้าและการเสพยา

รวมถึงการไล่จับคนใจบุญผู้มาบริจาคเงิน บริจาคอาหารให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อน

 

แนวทางสาย”เหยี่ยว” กับแนวทางสาย”พิราบ”จึงขัดแย้งกันไม่ว่าในสังคมการเมือง ไม่ว่าในสังคมสาธารณสุข สุขภาพของประชาชน

นั่นก็คือ แนวทางหนึ่งมองเห็นแต่โรค มองเห็นแต่ไวรัส แต่มองไม่เห็นคน

นั่นก็คือ แนวทางหนึ่งมองคนเป็นหลัก คนเป็นใหญ่

มองเห็นไวรัสโคโรนาเหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ มองเห็นการมาของโคโรนาเหมือนกับการมาของมะเร็ง ของเอดส์ จำเป็นต้องเรียนรู้ จำเป็นต้องเข้าใจ

เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมก็ต้องเรียนรู้และเข้าใจว่าจะอยู่กับมันอย่างไร จึงไม่สูญเสียหรือสูญเสียก็เพียงแต่น้อย

การจัดสมดุลระหว่างโรคกับคนจึงมีความสำคัญอย่างสูง