E-DUANG : ​คำขวัญ สุขภาพ เหนือเสรีภาพ ความท้าทาย ทาง “เศรษฐกิจ”

การเสนอสโลแกน “สุขภาพเหนือเสรีภาพ”สะท้อนหลักคิดพื้นฐาน ก่อนประกาศและบังคับใช้พรบ.การบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉินว่าสุขภาพเป็นหลัก เสรีภาพเป็นรอง

ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนความกังวลที่ต้องการกดมิให้การแสดงออกในเชิงเสรีภาพกระทั่งย่อหย่อนในเรื่องสุขภาพลงไป

เห็นได้จากน้ำเสียงซึ่งดังมาจากทำเนียบรัฐบาล และดังมา จากพรรคพลังประชารัฐ ล้วนเป็นไปในลักษณะป้องปรามมิให้ฝ่ายค้านได้แสดงบทบาทในการท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์

ภายใต้เหตุผลที่ว่า อย่าทำให้ปัญหา “ไวรัส” กลายเป็นปัญ หาในทาง “การเมือง” อย่าทำให้เรื่องการเมืองบดบังปัญหาในทาง สุขภาพ

แล้วผลที่ตามมาในห้วง 1 เดือนหลังเป็นอย่างไร

 

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคก้าวไกล ไม่ว่าพรรคฝ่ายค้านอื่นๆไม่มีใครปฏิเสธบทบาทและความสำคัญของการต่อกรกับการแพร่ ระบาดของไวรัส

ทุกฝ่ายล้วนให้การสนับสนุน ให้กำลังใจและเรียกร้องให้ขยายบทบาทของบุคลากรทางการแพทย์

เมื่อเห็นภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ก็เรียกร้องและหนุนช่วย

แต่ด้วยระยะเวลาอันรวดเร็วด้วยมาตรการ”เข้ม”จากแต่ละ ภาคส่วนของอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการสั่งหยุดดำเนินการทางธุรกิจอย่างกะทันหันต่างหากที่ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง

เป็นการสั่งหยุดกิจการตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า สถานบริการ หยุดการสัญจร และผลก็คือ ทำให้คนตกงาน ทำให้คนขาดรายได้

และวงจรทางธุรกิจได้หยุดชะงักขาดหายไปโดยสิ้นเชิง

ปัญหาในทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ กลับกลายเป็นประเด็น กลับฟ้องร้องให้เห็นอย่างเด่นชัด

นั่นก็คือ เดือดร้อนไปทุกหย่อมย่าน ทั่วประเทศ

 

ที่เคยคาดหมายว่าปัญหาในด้าน”เสรีภาพ”อาจกลายเป็นอุปสรรค ต่อการบริหารจัดการปัญหาในด้าน”สุขภาพ”เนื่องแต่การแพร่ระบาดของไวรัสก็ไม่เป็นไปตามนั้น

เพราะภาพของประชาชนที่เข้าแถวยาวเหยียดนับเป็นกิโลเพื่อรอรับเงิน รอรับข้าวของที่มีผู้บริจาคต่างหากคือการฟ้อง

ฟ้องให้เห็นจุดอ่อนและช่องโหว่ในเรื่องการเยียวยา ฟ้องให้เห็นว่าพร้อมกับการประกาศมาตรการ”เข้ม”แท้จริงแล้วได้มีการตระเตรียมมากน้อยเพียงใด

จึงยิ่งผ่านเลย ปัญหาใหม่อันเป็นผลสะเทือนตามมาคือปัญหาในทางเศรษฐกิจ ปากท้องของชาวบ้าน

และหากแก้ไขไม่ดีปัญหาเศรษฐกิจจะกลายเป็นการเมือง