E-DUANG : วิธีวิทยา รัฐราชการ รวมศูนย์ มอง สรรพสิ่ง หยุดนิ่ง ตายตัว

พลิกหนังสือ”พจนานุกรมพุทธษชศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์” ของ พระ พรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) ฉบับพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย เมื่อพ.ศ.2551

ไปยังคำ “อิทัปปัจจยตา” ที่หน้า 554

“ภาวะที่มีอันนี้ อันนี้ เป็นปัจจัย”,ความเป็นไปตามความสัมพันธ์ แห่งเหตุปัจจัย,กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย

กฎที่ว่า “เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี,เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น”

หากไม่เข้าใจหลักแห่ง”อิทัปปัจจยตา”จะไม่เข้าใจว่าเหตุใด เมื่อมีประกาศมาตรการเข้ม Lock Down กรุงเทพมหานคร จึงเกิดอาการไหลทะลักของคนเรือนหมื่นที่สถานีขนส่ง

นั่นเพราะมาตรการเข้ม Lock Down มองข้ามความเป็นจริงของกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย

 

หากฟังแถลงไม่ว่าจะจากรัฐบาล ไม่ว่าจะจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะจากกรุงเทพมหานคร

เป้าหมายของ Lock Down ต้องการให้ “นิ่ง”

คำว่านิ่งในที่นี้ดำรงและดำเนินไปตามสโลแกนที่ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

เพียงแต่มาตรการนี้เกิดขึ้นในวิธีวิทยาแบบ”สถิต”

นั่นก็คือ มองภาพคนกรุงเทพมหานครแบบคนชั้นกลาง มองข้าม ความเป็นจริงที่ว่ามีคนระดับล่างอยู่จำนวนมาก มองคนกรุงอย่างที่มีอาชีพแน่นอน มิได้มองเห็นคนรับจ้างรายวัน

เมื่อมีมาตรการเข้ม Lock Down คนที่กระทบที่สุดคือคนระดับล่าง คนที่เป็นคนรับจ้างรายวัน ทำงานอิสระ ต้องตกงาน ขาดรายได้ ไม่มีเงิน

คนเหล่านี้เรือนหมื่น เรือนแสนย่อมไม่อาจอยู่”นิ่ง”ได้

 

วิธีคิดอันสะท้อนการมองข้ามกฎแห่ง”เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี,เพราะสิ่งนี้ เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น” อันเป็นกระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย อันยืนยัน ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย

จึงมองสรรพสิ่งในลักษณะ “สถิต” มองเห็นเป็น “แท่ง” มองไม่เห็นภาวะหลากหลายที่ดำรงอยู่

นี่คือพื้นฐานความคิดของมาตรการเข้ม Lock Down

นี่คือพื้นฐานความคิดของ “รัฐราชการรวมศูนย์”ตั้งแต่ทำเนียบ รัฐบาลเรื่อยไปจนถึงศาลาว่าการ

จึงยิ่งตระหนกเมื่อเห็นภาพคนเรือนหมื่น ณ สถานีขนส่ง

และจะยิ่งตระหนกมากยิ่งขึ้นเมื่ออีก 14 วันต่อมาการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จะยิ่งเพิ่มขึ้นในลักษณะทวีคูณ

กระจายไปในขอบเขตทั่วประเทศ