E-DUANG : ไวรัส FLASH MOB ยุคใหม่ เงาสะท้อน จรยุทธ์ ยุค”ดิจิทัล”

จุดเริ่มของ FLASH MOB ไม่ว่าจะเป็นที่แยกปทุมวันเมื่อเดือนธัน วาคม ๒๕๖๒ คือ เป็น MOB อันเกิดขึ้นเอง ไม่มีใครเป็นหัวหน้า ไม่มีใครเป็นศูนย์การนำ

แม้จะมีความพยายามจะยัดเยียดการนำให้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่เชื่อได้เลยว่าในที่สุดจะล้มเหลว

เพราะแม้ตำรวจจะเสนอได้ แต่ในที่สุดอัยการก็ไม่เห็นด้วย

บทบาทของตำรวจก็เสมอเป็นเพียงท่าทีเพื่อกำราบ FLASH MOB ตามยุทธวิธีที่คสช.นำมาใช้นับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๗

วิถีดำเนินของ FLASH MOB จึงมิได้เป็นสงครามแบบแผน แม้จะมีลักษณะเผชิญหน้า แต่ก็ดำเนินไปในแบบจรยุทธ์

เป็น”จรยุทธ์”ในยุคแห่ง “สมาร์ทโฟน”

 

ในเมื่อ “สมาร์ทโฟน”ในยุคแห่งดิจิทัล จากสภาพเทคโนโลยีเช่นนี้ย่อม ทำให้ FLASH MOB มีความแตกต่างโดยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๙ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในห้วงก่อนรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗

เพราะทั้งหมดล้วนเป็นการเคลื่อนไหวในยุคแห่ง”อะนาล็อก”

การออกมาแสดงความเห็นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การออกมาแสดงความเห็นของมวลมหาประชาชนกปปส.ต่อ FLASH MOB จึงเป็นเรื่องต่างยุคต่างสมัย

นั่นก็คือ เอาความจัดเจนในยุคแห่ง”อะนาล็อก” มาสรุปสภาพที่กำลังเกิดขึ้นในยุคแห่ง”ดิจิทัล”

 

ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อ FLASH MOB อันปะทุขึ้นนับแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา เป็นการดำเนินการอย่างอิสระ ดำเนินการอย่างกระจัดกระจาย

ไม่ว่าจะเป็นที่ลานปรีดี พนมยงค์ ท่าพระจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นที่ลานกิจกรรม ศาลายา

ล้วนเป็นการเกิดขึ้นเอง ไม่ปรากฏ”ศูนย์การนำ”ที่เด่นชัด

FLASH MOB ที่ปัตตานีจึงเป็นเอกเทศจาก FLASH MOB ที่เชียงใหม่

ดำเนินไปในแบบ”จรยุทธ์” รบเร็ว ถอยเร็ว สลายเร็ว