E-DUANG : ยุคสมัย เปลี่ยน คนก็เปลี่ยน ยุคสมัย และความคิดแห่งยุค

คล้อยหลังการปรากฏขึ้นแห่งปรากฏการณ์จุดเทียน สร้างม็อบ เปิดไฟ สมาร์ทโฟน ตะโกนขับ ประยุทธ์ ออกไป ออกไป กระหึ่มขึ้น เสียงจากผู้อาวุโสจำนวนมากก็ดังขึ้น

เป็นความปรารถนาดี เป็นความห่วงใย พร้อมกับข้อเสนอแนะจำนวนมากมาย

ไม่ว่าจะมาจากแกนนำภายในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้มีส่วนสำคัญในการปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๙

ไม่ว่าจะมาจากแกนนำภายในมวลมหาประชาชน กปปส. ผู้มีส่วนสำคัญในการปูทางและสร้างเงื่อนไขให้กับรัฐประหารเมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๗

โดยลืมไปว่าตัวเองนั่นแหละที่สร้าง”ปัญหา”ให้กับสังคมไทย

 

อาการหลงๆลืมๆของผู้อาวุโสแห่งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิป ไตย ของผู้อาวุโสแห่งมวลมหาประชาชน กปปส. เป็นสภาพที่สามารถ เข้าใจได้

เข้าใจได้ว่าท่านเหล่านี้ล้วนประเมินบทบาทของตัวเองสูงอย่างยิ่งในทางการเมือง

เป็นบทบาทอันมาพร้อมกับความจัดเจนในการเคลื่อนไหว ต่อสู้

เหมือนกับคนจำนวนหนึ่งที่เคยมีบทบาทในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ก็มีบทเรียนชุดหนึ่ง เหมือนกับคนที่เคยมีบทบาทในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็มีบทเรียนชุดหนึ่ง

ก็พยายามถอด “บทเรียน” ชุดนั้นเพื่อ “เตือน” นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในนามแห่งความห่วงหา อาทร และก็เจือด้วยการชี้แนะในฐานะแห่งผู้อาวุโส

นี่คือความเคยชิน นี่คือการติดยึดอยู่กับบทเรียน

 

กระนั้น ความเป็นจริงหนึ่งซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ยุคของเดือนตุ ลาคม ๒๕๑๖ ยุคของเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ แตกต่างอย่างยิ่งกับยุคปัจจุบัน

เช่นเดียวกับยุคของก่อนรัฐประหาร ๒๕๔๙ กับยุคก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗

ก็ไม่เหมือนกับสภาพการณ์ในเดือนมีนาคม ๒๕๖๓

ยุคสมัยเปลี่ยน คนเปลี่ยน สภาพการณ์ทางสังคมการเมืองเปลี่ยน กระบวนการในการเคลื่อนไหวก็เปลี่ยน

ในที่สุดแล้ว ยุคของใครก็เป็นยุคของคนนั้น มิอาจทดแทนได้