E-DUANG : กระแส เรียกร้อง ปฏิรูปกองทัพ ทะลุ ผบ.ทบ. ถึงนายกรัฐมนตรี

สภาพที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กำลังประสบนับแต่การแถลงพร้อมกับหลั่งน้ำตาเมื่อวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ คือ สภาพอย่างที่เรียกกันว่า

เป็น “วิกฤตศรัทธา”

ประเด็นมิได้อยู่ที่ว่าเพียง ๒ วันหลังการแถลงยาวเหยียดก็ไม่สา มารถทำให้เป็นจริงได้ในกรณีการยึดครอง “บ้านพัก” ของทหารหลังเกษียณจากราชการอย่างเคร่งครัด

เพราะมีการยกเว้นให้กับนายทหารเกษียณที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาและองคมนตรี

วิกฤตศรัทธานีมีโอกาสจะทะลุทะลวงไปตั้งข้อสงสัยแม้กระทั่งต่อการหลั่งน้ำตาของ ผบ.ทบ.ว่าเป็นจริงหรือว่า “เฟค”

 

ยิ่ง ผบ.ทบ.ล้มเหลวกระทั่งเกิดช่องว่างระหว่าง “คำพูด” กับการกระทำ ตามคำพูดได้มากน้อยเพียงใด ยิ่งทำให้ข้อเรียกร้องในเรื่อง “ท.ทหาร ทันสมัย”จากพรรคอนาคตใหม่ทรงความหมาย

เพราะนั่นคือ พิมพ์เขียวแห่งการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปทหารอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามในลักษณะ “ทิ้งทุ่น”

เป็นคำถามต่อผบ.เหล่าทัพที่มาปรากฎตัวเบื้องหน้าคณะกรรมาธิ การวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓

เป็นคำถามจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบจาก ผบ.เหล่าทัพ ไม่ว่ากองทัพไทย ไม่ว่ากองทัพบก ไม่ว่ากองทัพเรือ ไม่ว่ากองทัพอากาศ

คำถามนี้จะดังก้องกังวานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

อย่าคิดว่าคำประกาศของผบ.ทบ.ที่จะช่วงชิงโอกาสนี้มาปฏิรูปและทำให้กองทัพบกยุคใหม่เกิดขึ้นจะกลายเป็นคำประกาศอันว่างเปล่า ไม่มีความหมาย

สังคมสัมผัสได้ในปัญหาและอุปสรรคตลอด ๒ รายทาง

ยิ่ง ผบ.ทบ.ประสบสภาวะละล้าละลังมากเพียงใดในทางการปฏิบัติ ยิ่งทำให้สภาพความเป็นจริงของกองทัพเผยแสดงออกต่อหน้าประชาชน

การเรียกร้องจากสังคมจะทะลุจากผบ.ทบ.ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและนายกรัฐมนตรีในที่สุด

หากในที่สุด คำประกาศผบ.ทบ.กลายเป็นความล้มเหลว

ความล้มเหลวนี้ก็จะฟ้องให้รู้ว่ามิได้เป็นเรื่องของผบ.ทบ.หากแต่ยังเป็นเรื่องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและนายกรัฐมนตรี