E-DUANG : ​สภาวะ ระเบิดเปรี้ยง การเมือง ศึกษา จากกรณี ประชาธิปัตย์

เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ก่อรูปเป็นพรรคมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2489 ยาวนานเป็นอย่างยิ่ง

ปรากฏการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์จึงน่าศึกษา

ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวของ นายกษิต ภิรมย์ ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัวของ นายกรณ์ จาติกวณิช

ยิ่งการยุติบทบาทของ New Dem ยิ่งน่าศึกษา

หากศึกษากระบวนการตั้งแต่บางส่วนแยกตัวไปจัดตั้งพรรครวม พลังประชาชาติไทย บางส่วนแยกตัวไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ยิ่ง มองเห็นแนวทางที่แตกต่างกัน

ทั้งหมดนี้เป็นผลสะเทือนจาก 1 ปัจจัยภายใน และ 1 ปัจจัยภาย นอกของพรรคประชาธิปัตย์

เป็นปัจจัยทั้ง”เก่า” เป็นปัจจัยทั้ง”ใหม่”

 

การแยกตัวของกลุ่ม นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เพื่อไปเป็นแกนหลักในการสร้างพรรคพลังประชารัฐสามารถเข้าใจได้

เข้าใจได้มากยิ่งขึ้นเมื่อเปิดประตูรับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เข้าไปด้วย

เช่นเดียวกับ กรณีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

เมื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รวบรวมพลังส่วนหนึ่งของกปปส.ไปจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยประกาศนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จึงมิได้เป็นเรื่องแปลกเหนือความคาดคิด

เพราะไม่เพียงแต่จะได้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ หากในที่สุด นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็ไปร่วมเคลื่อนไหวต่อต้าน”ลัทธิชังชาติ”

นี่คือเส้นทางสายเก่า แนวการเมืองแบบเก่า

 

หากศึกษากระบวนท่าของ นายกรณ์ จาติกวณิช จะสัมผัสได้ว่าเป็นกระบวนท่าใกล้เคียงเป็นอย่างมากกับการตัดสินใจของกลุ่ม New Dem

เพียงแต่ นายกรณ์ จาติกวณิช มีศักยภาพมากกว่า มีบารมีเหนือกว่าเท่านั้น

นี่คือผลสะเทือนจากแนวคิดใหม่ แนวทางใหม่

เป็นความเรียกร้องต้องการให้ปรับเปลี่ยนเป็น New พรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่สามารถทำได้

จึงจำเป็นต้องแยกตัวออกมาและสร้างรังใหม่ พรรคใหม่