E-DUANG : ​​​เดินตาม ทฤษฎี ผบ.อภิรัชต์ สังเคราะห์ กรณี เดินตามลุง

หากยึดกุมตามทฤษฎี Proxy Crisis อันเป็นอนุสาสน์จาก พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.อย่างมั่นแน่ว

ไม่ว่ากรณี”เดินเชียร์ลุง” ไม่ว่ากรณี”วิ่งไล่ลุง”ล้วนเป็นไปตามนี้

พิจารณาจากองค์ประกอบอันหลากหลายที่มารวมตัวกัน ณ สวน ลุมพินี พิจารณาจากองค์ประกอบดันหลากหลายที่มารวมตัวกัน ณ สวนรถไฟ

สัมผัสได้ในลักษณะ”ร่วม” สัมผัสได้ใน”องค์ประกอบ”อันดำเนินไปในลักษณะซึ่งเป็น “ตัวแทน”

เพราะแต่ละจังหวะก้าวคือสภาพอันดำรงอยู่อย่างเป็น Proxy

เพียงแต่ “เดินเชียร์ลุง”เป็นตัวแทนแห่ง”อดีต” เพียงแต่”วิ่งไล่ลุง” เป็นตัวแทนแห่ง”อนาคต”

นี่คือการปะทะระหว่าง”อดีต”กับ”อนาคต”อันแหลมคมยิ่ง

 

เหตุใดจึงสรุปอย่างรวบรัดว่าองค์ประกอบของ”เดินเชียร์ลุง”สะท้อนถึง ลักษณะอันเป็นตัวแทนแห่ง”อดีต”

ส่วนหนึ่งอาจมาจากรากฐานแห่ง”วัย”

ส่วนหนึ่งอาจดำเนินไปในลักษณะอันเป็นเงาสะท้อนแห่งความถวิลหาอาวรณ์

ถวิลหาอาวรณ์ต่อความเป็นอยู่ของ”ลุง”

และเมื่อนำเอาสภาพความเป็นจริงของ”ลุง”มาวางเด่นอยู่บนแท่นสูงเด่นจากหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เรื่อยมาจนถึงเดือนมกราคม 2562 ก็จะเห็นชัด

เห็นชัดในความสำเร็จ เห็นชัดในความล้มเหลว เห็นชัดในการดำรงอยู่ เห็นชัดผ่านอุณหภูมิและความรู้สึกในทางสังคมว่ากำลังดำเนินไปเช่นใด

ก็พอจะสัมผัสได้ว่าอนาคตอันใกล้ของ”ลุง”จะเป็นเช่นใด

 

ขณะเดียวกัน หากองค์ประกอบและเป้าหมายของ”เดินตามลุง”เป็น ความพยายามที่จะยื้อยุด”อดีต”เอาไว้

กรณี”วิ่งไล่ลุง”ก็ยืนยันอย่างมั่นแน่ว แจ่มชัด

นั่นก็คือ ไม่สบอารมณ์กับสภาพและการดำรงอยู่ของ”ลุง”ต้องการวิ่งไล่เพื่อให้พ้นไปจากวงจร

พวกเขามิได้เริ่มต้นจาก”อดีต”อย่างเดียว

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ เขามองเห็น”อดีต”และตรวจสอบผ่าน”ปัจจุบัน”และรู้สึกว่า”อนาคต”อาจไม่ดีเท่าใดนัก

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง”ไล่ลุง”ออกไปจึงจะมีอนาคต