E-DUANG : ​​​พัฒนาการ ปฎิทิน ขันแดง ​​​แฟลชม็อบ ถึง “วิ่งไล่ลุง”

ในความเป็นจริง ไม่ว่าการเคลื่อนไหวอย่างที่เรียกว่าแฟล็ชม็อบ สกาย วอล์ก ปทุมวัน ไม่ว่าการเคลื่อนไหวอย่างที่เรียกว่าวิ่งไล่ลุง สวนรถไฟ จตุจักร

ล้วนเป็นงานในทาง “ความคิด”

เป็นการแปร “นามธรรม” ในทางความคิดให้กลายเป็น”รูปธรรม”ในทางการเมือง

เพียงแต่บางทีก็ไม่เรียกว่า “การเมือง”

เพราะว่าพื้นฐานการไปรวมตัวกัน ณ สกายวอล์ก ปทุมวัน ดำเนินไปในท่วงทำนองแบบ”กึ่งสังสรรค์” เพราะว่าพื้นฐานการไปวิ่งด้วยกัน ณ สวนรถไฟ จตุจักร เป็นเรื่องของสุขภาพ

นี่คือพัฒนาการของการเคลื่อนไหวจากที่เคยสัมผัสผ่าน “ปฏิทิน” สัมผัสผ่าน “ขันแดง”

 

ต้องยอมรับว่าการจัดทำ “ปฏิทิน” อาศัยเทศกาลเนื่องในวันปีใหม่สากล ต้องยอมรับว่าการจัดทำ “ขันแดง” อาศัยเทศกาลเนื่องในวันสง กรานต์อันเป็นปีใหม่แบบไทย

อย่างแรกนับในทาง”สุรยคติ” อย่างหลังนับในแบบ”จันทรคติ”

เป็นการช่วงชิงจากขนบธรรมเนียมประเพณีในทางสังคมมาเป็น เครื่องมือในการเคลื่อนไหว

เพียงแต่ภาพในปฎิทินอันกลายเป็นของแสลงเป็นภาพของ นาย ทักษิณ ชินวัตร เป็นภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แห่งพรรคไทยรัก ไทย พรรคเพื่อไทย เท่านั้น

เพียงแต่ขันอันใช้ในการสาดน้ำมิได้เป็นขันอย่างปรกติ ตรงกันข้าม เป็นขัน”แดง”อันก่อให้เกิดนัยประหวัดไปยังกลุ่มที่เคลื่อนไหวในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 เท่านั้น

ปฏิทิน และขันจึงกลายเป็นประเด็นในทางการเมือง

 

มาถึงการสังสรรค์ ณ สกายวอล์ก ปทุมวัน มาถึงการนัดวิ่งพร้อมกัน ณ สวนรถไฟ จตุจักร หากมองจากปรากฎการณ์เบื้องต้นแทบไม่มีอะไรมีสีสันในทางการเมือง

เว้นแต่เมื่อไปอยู่ด้วยกันแล้วจะกระหึ่มด้วยเสียง “ออกไป ออกไป” ดังกึกก้อง

เว้นแต่การวิ่งนั้นประกาศเป้าหมายเด่นชัดว่า “วิ่งไล่ลุง”

จึงเป็นพัฒนาการไม่เพียงแต่จากวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคมมาเป็นวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม

หากแต่ก้าวกระโดดจาก”ปฏิทิน”และ”ขันแดง”

อย่างแรกอาจสัมพันธ์อยู่กับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย

อย่างหลังอาจสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของ”อนาคตใหม่”