E-DUANG :​​ จุดปะทะ ประยุทธ์ พลังประชารัฐ ความแข็งตัว กับ อารมณ์ สังคม

การเมืองปี 2563 เป็นการเมืองอันเป็นการปะทะระหว่างรูปธรรมทาง โครงสร้าง กับ นามธรรมในทางความคิดและความรู้สึก

รูปธรรมสัมผัสได้จากความแข็งตัวของ “อำนาจรัฐ”

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่บนรากฐานอันแข็งแกร่งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

อันประกอบส่วนขึ้นจากอำนาจ”รัฐประหาร”

จึงไม่เพียงแต่ประกันการได้มาซึ่งอำนาจ หากแต่ยังประกันการดำรงอยู่อย่างยาวนานของอำนาจภายใต้คณะคสช.จำแลงแปลงรูปมาผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

กลุ่ม”อำนาจนำ”สามารถทำอะไรก็ได้เพื่อบั่นทอนอีกฝ่ายและเสริมอำนาจให้กับตนเอง

โดย”รูปแบบ”เป็นอย่างนี้แต่โดย”ความรู้สึก”เป็นอย่างไร

 

ถามว่าสังคมรับรู้ได้หรือไม่ในการสำแดงอำนาจในลักษณะบาตรใหญ่ นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

คำตอบ คือ รู้

ในห้วง 5 ปีแรกอาจยอมจำนน ยอมรับ เพราะกลไกแห่งอำนาจพิ เศษกางครอบอย่างรอบด้าน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมากระทั่งการใช้อำนาจของมาตรา 44

แต่เมื่อผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมาก็เริ่มมีการแข็งขืน ต่อกร

ต่อกรโดยอาศัย”เงื่อนไข”ภายในกลไกแห่ง”อำนาจรัฐ”ที่มีอยู่

เห็นได้จากบทบาทของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เห็นได้จากบทบาทของพรรคอนาคตใหม่ที่เล่นการเมืองแนวใหม่ ประสาน ทั้งงานในรัฐสภาและงานนอกรัฐสภาเข้าด้วยกัน

ตรงนี้คือ เงาแห่งการ”สะท้อน”อารมณ์ของ”สังคม”

 

ถามว่าอะไรคือเสียงตะโกนอันดังกระหึ่มผ่าน FLASH MOB  เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม ณ ลานสกายวอล์ก ปทุมวัน

คำตอบ คือ “ออกไป ออกไป”

ถามว่าเหตุใด คลิปแสดงสีหน้า แววตาของชาวบ้านเมื่อปะเข้ากับขบวนแจกของของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ณ สถานีขนส่งหมอชิต

คำตอบ คือ เบื่อหน่ายอย่างเต็มกำลัง

ในฐานะเป็นตัวแทนแห่ง”อำนาจนำ”รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความแข็งแกร่งและดำเนินไปอย่างแข็งตัว

แต่ในทาง”อารมณ์”ทางสังคมกลับสวนไปในทางตรงกันข้าม