E-DUANG : ​​​สถานะ รัฐบาล สถานะฉายา ขึ้นกับ ความจริง การปฏิบัติ

ปฎิกิริยาอันเนื่องแต่การตั้ง”ฉายา”รัฐบาล ไม่ว่าจะมาจาก”ลุงตู่” ไม่ว่าจะมาจาก”ลุงดี้”สามารถเข้าใจได้

เนื่องจาก “ลุงตู่”ตกอยู่ในสถานะอันเป็น”อิเหนา”

จากจาก “ลุงดี้” ก็เป็นขาเชียร์รัฐประหาร ขาเชียร์คสช.และขาเชียร์ “ลุงตู่”อยู่แล้ว

สรุปตามสำนวน ชาย เมืองสิงห์ ก็คือ “ชาวบ้านเขารู้กันทั่ว”

กระนั้น คำถามหนึ่งอันตามมาภายหลังนักข่าวทำเนียบประชุมสรุปและแถลงออกมาซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ชาวบ้านเขารับรู้และรู้สึกอย่างไรแต่ละฉายา

ความหงุดหงิดจาก”ลุงตู่” เป็นข้อมูลหนึ่ง การวางเฉยจาก”ลุงสม คิด”ก็เป็นอีกข้อมูลหนึ่ง

แต่ที่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริง คือ อารมณ์ในทางสังคม

 

ปราการด่านแรกที่สุดก็คือ คำว่า “รัฐบาลเซียงกง” เกินเลยและขยายจากความเป็นจริงมากไปหรือเปล่า

เพราะว่า”เซียงกง”หมายถึงอะไหล่ชั้น 2 มิได้เป็นของใหม่

ดูหน้า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ใหม่หรือไม่ ดูหน้า นายสุริยะ จึง รุ่งเรืองกิจ ใหม่หรือไม่ ดูหน้า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ใหม่เอี่ยมถอดด้ามหรือว่าเก่ามาจากที่อื่น

ปราการด่านต่อมาก็คือ คำว่า”อิเหนาเมาหมัด” ทำไมจึงไม่ลงเอยด้วยคำว่า “อิเหนาเร้าใจ”

ยิ่งคำว่า “ศรีธนญชัยรอดช่อง” ยิ่งชวนให้ขบคิด

1 ขบคิดถึงบทบาทของรัฐบาลนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ขณะเดียวกัน 1 ขบคิดถึงบทบาท ท่าทีและท่วงทำนองของ พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าถอดแบบมาจาก”อิเหนา”จริงหรือไม่

หากเมื่อใดสังคมและชาวบ้านเห็นด้วย เมื่อนั้นก็ต้องเหนื่อย

 

คำประกาศไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมาจากนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล

ถามว่าบทบาทและความสำคัญอยู่ที่ไหน

คำตอบ 1 คือ บทบาทความเป็นเอกภาพระหว่างคำประกาศกับการปฏิบัติที่เป็นจริง

คำตอบ 1 คือ ฉายามาจากความเป็นจริงหรือความเป็นเท็จ

หากชาวบ้าน หากสังคมเห็นว่าบทสรุปของนักข่าวประจำทำเนียบไม่ตรงกับความเป็นจริงของรัฐบาล

นั่นหมายถึงหายนะแห่งความเชื่อถือ หายนะแห่งเครดิต