E-DUANG : บทเรียน สำคัญ ต่ออนาคตใหม่ เกมในรัฐสภา การสร้าง”แนวร่วม”

เหมือนกับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรต่อญัตติด่วนตั้งคณะ กรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการประกาศและคำสั่งของคสช.และการใช้อำนาจของคสช.ตามมาตรา 44

จะเป็นชัยชนะในทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ เพราะญัตตินี้เสนอโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุลและคณะจากพรรคอนาคตใหม่

อาจเป็นเช่นนั้น

แต่หากพิจารณาจากจำนวน 236 ต่อ 231 ที่ให้ความเห็นชอบกับ ญัตติก็เท่ากับยืนยันว่า ชัยชนะครั้งนี้มาจากการสนับสนุน 1 จากพรรค ร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน

และ 1 จาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอญัตติคล้ายๆกันเข้ามาและพิจารณาร่วมกัน

บทเรียนครั้งนี้สะท้อนนัยยะอะไรในทางการเมือง

 

บทเรียนแรกที่สุดก็คือ การตระเตรียมเป็นอย่างดีของพรรคอนาคตใหม่ โดยมี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นหัวรถจักร

ตระเตรียมเนื้อหาและตระเตรียมเรื่องในทาง”ความคิด”

ตลอดจนการทำ PR ก่อนจะเริ่มญัตติและก่อนที่จะมีการลงมติดำเนินไปด้วยความคึกคัก

แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่าพรรคอนาคตใหม่มีเพียง 81 และมีอยู่ 2 คน(เจ้าเก่า)ที่โหวตสวนมติ จำนวน 236 ที่ได้มาด้านหลักจึงเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้านและบางส่วนจากพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่งกว่านั้นในห้วงแห่งการต่อสู้ภายหลังจากนั้นต้องยอมรับว่าคนจากพรรคเพื่อไทยมีความจัดเจนมากกว่าในการเล่นลูกล่อลูกชนกับคนจากพรรคพลังประชารัฐ

เด่นชัดยิ่งว่า หากพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้พันธมิตรแห่งแนวร่วมก็ยากอย่างยิ่งที่จะได้มา 236 เสียง

 

จากนี้จึงเด่นชัดว่า ไม่ว่าการขับเคลื่อนประเด็นใดนอกจากการสร้างเอกภาพภายในแล้ว การแสวงหาพันธมิตรในแนวร่วมมีความสำคัญเป็นอย่างสูง

การสันทัดในการแสวงหา”พันธมิตร”ใน”แนวร่วม”จึงเป็นอีกหัวใจหนึ่งของการต่อสู้ในทางการเมือง

เพราะในการเคลื่อนไหวมิได้มีแต่”เรา”ฝ่ายเดียวต้องมี”พวกเรา”

ขณะเดียวกัน สิ่งที่มีอยู่น้อยมากสำหรับพรรคอนาคตใหม่คือความสันทัดในการกระบวนการต่อสู้ในรัฐสภา

นี่คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ นี่คือสิ่งที่จะต้องสะสม