E-DUANG : ปรากฏการณ์ ใหม่ งบประมาณ บทบาท อนาคตใหม่ เพื่อไทย

แม้จะเริ่มก้าวแรกของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.งบ ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ไปแล้ว

เห็นได้จากการแต่งตั้งประธาน แต่งตั้งรองประธาน

เห็นได้จากการตั้งที่ปรึกษา เห็นได้จากการตั้งโฆษกและคณะทำงาน

แต่เนื่องจากความสนใจด้านหลักของพรรคพลังประชารัฐรวมศูนย์ไปยังการเข้ามาเป็นกรรมาธิการของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทำให้ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวด้านอื่นมากนัก

และที่สำคัญการต่อสู้ภายในคณะกรรมาธิการยังไม่ได้ลงลึกไปในรายละเอียดของเม็ดเงิน เพราะยังจำกัดอยู่ในกรอบและขอบเขตของเทคโนโลยี

นั่นก็คือ จะได้ข้อมูลและรายละเอียดมาได้อย่างไร

 

แม้จะมีการตีพิมพ์งบประมาณเป็นหนังสือจำนวนหลายสิบเล่ม แต่ความต้องการของคณะกรรมาธิการคืบหน้าไปมากกว่านั้น

คือมิได้ต้องการเพียง”สิ่งพิมพ์”

ตรงกันข้าม เป็นความต้องการเจาะลึกลงไปยังข้อมูลอันเป็นความต่อเนื่องของแต่ละรายการ

ตรงนี้เป็นข้อมูลในทาง “อิเล็กทรอนิกส์”

ตรงนี้เป็นความพยายามที่จะเข้าไปยังสิ่งที่เรียกกันติดกับ 2 ริมฝีปากในยุค ไทยแลนด์ 4.0 ว่า Big Data

เป็นการเรียกร้องจากพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย

นั่นก็คือ ต้องการตรวจสอบไปยังรากฐาน มิได้ต้องการแตะเพียง ปรากฏการณ์บนพื้นผิว ต้องการลากความเชื่อมโยงระหว่างปรากฎการณ์กับความเป็นจริงมูลฐาน

นี่คือนวัตกรรมที่กำลังแสดงบทบาทผ่าน”งบประมาณ”

 

ในห้วงแห่งการนำเสนอร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประ มาณ พ.ศ.2563 เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน ในสภาผู้แทนราษฎร ทุกคนล้วน เห็นบทบาทใหม่ในการอภิปราย

ไม่ว่าจะมาจากพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะมาจากพรรคเพื่อไทย

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การกำหนดเค้าโครงการอภิปรายอย่างเป็นระบบ มีจุดตั้งต้น มีจุดขยายและมีการสรุปประมวลอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

ที่สำคัญก็คือ การนำเสนอในลักษณะอันเป็นนวัตกรรมในทางการเมืองบนพื้นฐานแห่งเทคโนโลยีใหม่แห่งวิทยาการการเมือง