E-DUANG : ​​​บทบาท 7 พรรคร่วม ฝ่ายค้าน มิติใหม่ แนวโน้มใหม่ การเมือง

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านบนเวทีอภิปรายที่ชลบุรี ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม New Consensus Thailand บนเวทีอภิปรายที่ฉะเชิงเทรา

นี่คือการเคลื่อนไหวในทาง”การเมือง” นี่คือการเคลื่อนในทาง “ความคิด”

เพียงแต่ที่ชลบุรีอาจเน้นในเรื่อง EEC

ขณะที่ที่ฉะเชิงเทรามีความพยายามประสาน ECC เข้ากับ รัฐธรรมนูญ เน้นบทบาทและความสำคัญของรัฐธรรมนูญกับเศรษฐกิจ

เป้าหมายก็คือ จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ อันนำไปสู่ไปรัฐธรรมนูญใหม่

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็น”สีสันใหม่”ในทางการเมือง

 

ที่การเคลื่อนไหวของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านกลายเป็นของแปลก ที่ การเคลื่อนไหวของ New Consessus Thailand เป็นของแปลก

เพราะว่าเป็นการเหยียบบาทก้าวเข้าสู่”มิติใหม่”และสร้างสีสันและความเคยชินใหม่ในทางการเมือง

นี่ย่อมแตกต่างไปจาก”ขนบ“เดิมของการเมืองที่เคยเกิดขึ้น

จินตภาพทางการเมืองเดิมต่อพรรคการเมืองคือการเลือกตั้ง และการทำงานในรัฐสภา

การเลือกตั้งอาจเป็นมหกรรมยิ่งใหญ่ ทุ่มเททำงานกันในขอบเขตทั่วประเทศ และเมื่อการเลือกตั้งจบสิ้นงานของพรรคการ เมืองและนักการเมืองก็อยู่ในรัฐสภา อยู่ที่การประชุม

เมื่อหมดสมัยประชุมก็ออกเยี่ยมเยียนประชาชนเป็นเรื่องแบบตัวใครตัวมัน นี่ย่อมตรงกันข้ามกับที่ 7 พรรคฝ่ายค้านดำเนิน การ

บทบาทของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเป็นการเบิกมิติใหม่อันทำให้พัฒนาไปมากยิ่งกว่าการเป็นพรรคเลือกตั้ง พรรคสภา

 

เมื่อเป็นของใหม่จึงย่อมจะถูกมองด้วยความไม่เข้าใจไม่ว่าจะมาจากรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากพรรคร่วมรัฐบาล

เพราะยังติดอยู่กับความเคยชินเก่า พรรคการเมืองแบบเก่า

กระนั้น บทบาทและการเคลื่อนไหวของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงเท่ากับเป็นสัญญาณบ่งบอกให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วในทางการเมือง

เชื่อได้เลยว่า ทิศทางนี้จะยิ่งคึกคักหนักแน่นมากเป็นลำดับ