E-DUANG : จาก พานไหว้ครู นักเรียน ถึงศิลปกรรม อุลตราแมน

ปรากฏการณ์”พระอุลตราแมน” ก็เหมือนกับปรากฎการณ์”พานไหว้ครู”

นั่นคือ สะท้อนการปะทะระหว่าง”ใหม่”กับ”เก่า”

เพียงแต่กรณีพานไหว้ครูเป็นเรื่องของ “นักเรียน” อยู่ในระดับ มัธยมศึกษา

เพียงแต่”พระอุลตราแมน”เป็นเรื่องของ “นักศึกษา”

หากมองจากสายตาของคนรุ่นก่อน หากมองจากสายตาของผู้ใหญ่ การปรากฏขึ้นของ”พระอุลตราแมน”เท่ากับเป็นการลองของลองวิชา

เป็นของแปลก เป็นของใหม่ เมื่อปรากฏขึ้นก็ก่อให้เกิดอาการ ช็อกในทางความคิด

คำถามก็คือ เป็นไปได้อย่างไร

 

คำถามในแบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อธรรมศาสตร์กับจุฬาฯแข่งฟุตบอลประเพณี คำถามในแบบเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อมีการสอดแทรกการเมืองเข้าไปในงิ้วธรรมศาสตร์

ปรากฏการณ์เช่นนี้จะไม่เป็นที่ข้อสงสัยหากอยู่ในยุคประชา ธิปไตย

แต่พลันที่อยู่ในยุค”เผด็จการ”ก็เป็นเรื่อง

เหมือนที่คสช.ส่งทหารเข้าไปตรวจสอบพาเหรดและการแปรอักษรของนิสิตนักศึกษาในเทศกาล”บอลประเพณี”นั่นแหละ

นี่คือการปะทะในทาง”ความคิด”

เพียงแต่เรื่อง”พานไหว้ครู”ปรากฏขึ้นในโรงเรียน เพียงแต่กรณี “พระอุลตราแมน”ปรากฏขึ้นในงานนิทรรศการทางศิลปะเท่านั้น

กล่าวสำหรับ”พานไหว้ครู”เกิดขึ้นแล้วก็จบ แต่กรณี”พระอุลตราแมน” เมื่อปรากฏขึ้นและมีความต่อเนื่องเพราะได้ก่อวิวาทะ อย่างกว้างขวาง

เพราะเป็นเรื่องในทางศิลปะ เพราะเป็นเรื่องในทางศาสนา

 

การปะทะระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคของศรี ปราชญ์ กระทั่งยุคของสุนทรภู่

ตั้งแต่ยุคของรศ.130 กระทั่งยุคของคณะราษฎร

มาถึงยุคเดือนตุลาคม 2516 มาถึงยุคเดือนตุลาคม 2519 มาถึงยุคเดือนพฤษภาคม 2535 ก็เป็นเช่นนี้

นี่คือช่องว่างระหว่างวัย นี่คือช่องว่างระหว่างความคิด

ระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ เป็นธรรมชาติสังคม