E-DUANG : ศึกษา ธรรมชาติ ของปลา ผ่าน ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์

สถานการณ์จากกรณี”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” เรื่อยมาจนถึงกรณีว่าด้วย เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ ได้นำไปสู่บทสรุปในทางความ คิดมากมาย

หลายคนนึกถึงสำนวนที่ว่า “วัวพันหลัก” ขณะที่บางคนนึกถึง สำนวน “ขว้างงูไม่พ้นคอ”

และจำนวนไม่น้อยนึกถึงบทนิพนธ์ของ”รามจิตติ”ที่ว่า

“อนึ่ง เราเป็นคนไม่ใช่นกแก้วนกขุนทอง อย่าปล่อยให้ใครๆเอาของเหลวไหลมากรอกหูแล้วก็เก็บมาขยายโวขึ้นเลย

จงจำไว้ว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก”

ข้อทักท้วงจากบุคคลภายนอกก็เป็นสภาพการณ์หนึ่ง แต่ที่บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่โตล้วนมาจากปากปลาหมอทั้งสิ้น

ไม่ว่าเรื่อง “หนีสภา” ไม่ว่าเรื่องต้องโทษ 8 เดือนหรือ 4 ปี

 

ถามว่าหนังสือพจนานุกรมฉบับมติชนนิยามความหมายของปลา หมอตายเพราะปากอย่างไร

ต้องเปิดไปที่หน้า 542

ปลาหมอตายเพราะปาก (สำ) คนที่พูดไม่ระวังปากคำจนเกิดอันตรายแก่ตัว

พลิกไปยังพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

หน้า 678 ปลาหมอตายเพราะปาก(สำ) คนที่พูดจนได้รับอัน ตราย

ยิ่งอ่านจากหนังสือ”สำนวนไทย” จากการเรียบเรียงและจัดระบบของ ขุนวิจิตรมาตรา(สง่า กาญจนาคพันธุ์) ยิ่งประจักษ์ในรากฐานความเป็นมา

ปลาหมอตายเพราะปาก

เป็นสำนวนหมายความว่า พูดไปจนตัวต้องเป็นอันตราย มูลของสำนวนนี้มาจากปลาหมอ คือเวลาอยู่ใต้น้ำจะพ่นน้ำขึ้นมาเห็นปุดๆที่ผิวน้ำ คนตกเห็นก็รู้ว่าที่ตรงนั้นมีปลาหมอ

เอาเหยือล่อตกเบ็ดขึ้นมาได้

 

ลองย้อนกลับไปศึกษากรณีถวายสัตย์ปฏิญาณประสานเข้ากับกรณี เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ จะสัมผัสได้ว่าล้วนสัมพันธ์กับ การใช้ปากทั้งสิ้น

ทำให้กลายเป็น”วัวพันหลัก” ทำให้กลายเป็นสภาพ”ขว้างงู ไม่พ้นคอ”

และที่สุดก็ประจักษ์ในธรรมชาติ”ปลาหมอตายเพราะปาก”