E-DUANG : ฝันร้าย จากเดือน กรกฎาคม นำไปสู่อาการ สภาซินโดรม

มีเหตุผลมากมายที่จะรองรับความหวาดกลัวต่อ “สภา” จนถึงขั้นที่จะเรียกว่า “สภาโฟเบีย” หรือ “สภาซินโดรม”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ เพราะ”สภา”มิใช่พื้นที่ของนักการเมืองอันมีรากฐานมาจาก”รัฐประหาร”

เหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อมาก็คือ เพราะสภาในปัจจุบันเป็น “สภาผู้แทนราษฎร” ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก”สภา นิติบัญญัติแห่งชาติ”

นั่นก็คือ สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน มิใช่สมาชิกสภามาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร

นั่นก็คือ เป็นสภา”เลือกตั้ง” มิใช่สภา”ลากตั้ง”

 

ความแตกต่างระหว่างสภา”ลากตั้ง”กับสภา”เลือกตั้ง”ประชาชนรับรู้อย่างเป็นรูปธรรม

ถือเป็นคุณูปการของ”รัฐประหาร”

กระบวนการรัฐประหารไม่เพียงแต่จะผลิตนายกรัฐมนตรีในแบบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเท่านั้น หากแต่ยังฉายภาพของกระบวนการลากตั้งผ่าน”สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”

การประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีกระทู้ ประชาชนจะเดือดร้อนแค่ไหนไม่เคยมีการหยิบยกมาพิจารณา

การปรากฏตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีสมาชิกสภามายืนตรงประสานมือต้อนรับ

นี่ย่อมตรงกันข้ามกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25-27 กรกฎาคม อย่างสิ้นเชิง

ภาพการปะทุอารมณ์ในลักษณะฟิวส์ขาดจึงยังฝังจำอยูอย่างไม่รู้ลืมเลือน

 

สถานการณ์การประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคม นั้นเองคือฝันร้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นำไปสู่ลักษณะ”ซินโดรม”ในทางการเมือง

นำไปสู่ความไม่มั่นใจกระทั่งเกิดสภาพ”หนีสภา”อย่างชนิดหนีแล้วหนีอีก

กระทั่งกลายเป็น”ภาพลักษณ์”อันติดตรึง