E-DUANG : การแยก แตกตัว จาก”คสช.” ศึกษา กรณี ของกษิต ภิรมย์

การตัดสินใจยื่นใบลาออกจากสมาชิกภาพแห่งพรรคประชาธิปัตย์ ของ นายกษิต ภิรมย์ สะท้อนให้เห็นการแยก แตกตัวอย่างมีนัยสำคัญในทางความคิด

เพราะเหตุผลสำคัญของ นายกษิต ภิรมย์ คือ ไม่เห็นด้วยกับการร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

ความหมายอย่างตรงเป้าที่สุดก็คือ ไม่เห็นด้วยกับการสนับ สนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อันเท่ากับ เป็นปฏิกิริยาต่อการสืบทอดอำนาจของคสช.

นี่เป็นบทสรุปอันเดียวกันกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตัดสินใจลาออกจากสมาชิกภาพแห่งส.ส.เพื่อแสดงความชัดเจนในการไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งหมดนี้คือภาวะรวนเรอย่างมีนัยสำคัญในทาง”ความคิด

 

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายกษิต ภิรมย์ เคยมีบทบาทอย่างไรในพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิ

เขาคนนี้เองที่เป็นคนนิยามเหตุผลการเข้าร่วมในการชุมนุมว่า เป็นเพราะ”อาหารดี ดนตรีไพเราะ”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยไปให้กำลังใจ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในห้วงแห่งการนำชุมนุมประท้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

และเมื่อมวลมหาประชาชนของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เปิดมาตรการ”ชัตดาวน์” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยเข้าร่วมใน การเป่านกหวีดในห้วงก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

มาถึง ณ วันนี้ ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายกษิต ภิ รมย์ ก็แสดงจุดยืนอย่างเด่นชัดว่าไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นี่คือการออกจากเส้นทางที่เคยเดินมาก่อนการรัฐประหาร

 

ความน่าสนใจก็คือ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ จะมี 250 ส.ว.และ 19 พรรคการเมืองอยู่ในมือในฐานะพันธมิตร

แต่หลายคนที่เคยสนับสนุนก็เริ่มแตกและแยกตัวออกมา

ดังในกรณีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายกษิต ภิรมย์

และหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็น New Dem

ปรากฏการณ์เช่นนี้นับวันจะขยายตัวเติบใหญ่มากยิ่งขึ้น