E-DUANG : สงคราม แย่งชิง ตำแหน่ง ในยุค แห่งโซเชียล มีเดีย

ถามว่า “ปฏิกิริยา” อันเกิดระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพันธมิตร ซึ่งประกอบส่วนขึ้นเป็น 500 เสียงที่ขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างไร

บางส่วนอาจเป็นการแถลงข่าวอย่างเป็นพิธีกรรม

แต่ด้านหลักเริ่มต้นจาก “โซเชียล ออนไลน์” ไม่ว่าจะเป็นทวิต เตอร์ เฟซบุ๊ค

จากนั้น ก็”แชร์”กันไปอย่างคึกคัก

เมื่อเริ่มต้นที่พรรคพลังประชารัฐ และมีการตอบโต้จากพรรคภูมิใจไทย สีสันการแชร์และคอมเมนต์ ยิ่งคึกคัก ในที่สุดก็กลายเป็นข่าวพาดหัว

ทั้งช่องทาง”โทรทัศน์” ทั้งช่องทาง”หนังสือพิมพ์”

 

ต้องยอมรับว่าการแพร่กระจายข่าวสารผ่าน”โซเชียล ออนไลน์”ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

พลันที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ โพสต์

จากนั้นไม่กี่วินาทีก็จะมีคำตอบนิ่มๆมาจาก นายอนุทิน ชาญ วีระกูล

เท่านั้นไม่พอ เมื่อมีเสียงขู่จากพรรคพลังประชารัฐว่าหากไม่ยินยอมให้มีการเกลี่ยโควต้าใหม่อาจงัดเอาการยุบสภามาเป็นกลไกในการจัดการ

เท่านั้นแหละก็มี “ปฏิกิริยา” ตามมาจาก 11 ส.ส. 11 พรรคการเมืองขยายข้อเรียกร้องจาก 2 เป็น 3 ตำแหน่ง

ทั้งหมดนี้เป็นการต่อรองอันดำรงอยู่ระหว่าง 500 เสียงที่ร่วมกันชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น แต่ภาพและเสียงที่ปรากฏเหมือนเกิดขึ้นในจตุจักรหรือลาดพร้าว

ชาวบ้านร้านช่องเห็นกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะของพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าจะของพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะของ 11 ส.ส.จาก 11 พรรคการเมือง

“โซเชียล มีเดีย” มีส่วนช่วยในการแพร่กระจายอย่างได้ผล

 

ขนาดยุค 4 G ยังอึกทึกครึกโครมระดับนี้ หากเมื่อใดที่เหยียบเข้าสู่ยุค 5 G อย่างสมบูรณ์แบบมีหรือที่จะเหลือความลี้ลับอะไรให้คาดเดา

การยื้อแย่งเก้าอี้ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต่างไป จากยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ทุกอย่างล้วนอยู่ในความรับรู้ของ”ชาวบ้าน”