E-DUANG : จากยุค เปรม ติณสูลานนท์ ถึงยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีความต่างอย่างแน่นอนระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อเดือนมีนาคม 2523 กับ การจัดตั้งรัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนพฤษภาคม 2562

1 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่มีพรรคการเมือง แต่ดำรงอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ.

1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอดีตผบ.ทบ. และอยู่ในฐา นะเป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

1 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็น รัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี

กระนั้น กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลก็แตกต่างกัน

 

ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จัดตั้งรัฐบาลภายหลังจากได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว อย่างสมบูรณ์

ทั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.อยู่ด้วย

เราจึงเห็นภาพ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เชิญแกนนำพรรคการเมืองอันเป็นเป้าหมายเข้าไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์

ไม่ว่าพรรคกิจสังคม ไม่ว่าพรรคชาติไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิ ปัตย์ โดยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีตัวเลขอยู่ในใจแล้วว่าจะให้ดำรงตำแหน่งอะไร

ตรงกันข้าม ภาพที่เห็นในเดือนพฤษภาคม 2562 ก็คือ ภาพแกนนำพรรคพลังประชารัฐเดินทางไปเชิญพรรคประชาธิปัตย์ ไปเชิญพรรคภูมิใจไทย

และก็เดินออกมาโดยที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้คำตอบจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยอย่างไร เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยก็มีตัวเลขอันเป็นของตนเอง

นี่คือจุดต่างสิ้นเชิงกับยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

 

ในที่สุดแล้วพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทย ก็จะต้องไปพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอนเมื่อทุก อย่างพับเพียบเรียบร้อย

นั่นก็นำไปสู่การเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติ

ถามว่าบรรยากาศเหมือนยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือไม่

นายชวน หลีกภัย คงตอบได้ว่าเหมือนหรือว่าต่าง