E-DUANG : ปัจจัยใหม่ ของ การเมืองไทย การเมือง”โพสต์”  24 มีนาคม  

ทั้งๆที่ข่าวการเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ถูก”ปล่อย”ออกมาตั้งแต่ตอนค่ำของวันที่ 24 มีนาคมแล้ว

ปล่อยโดยคสช. ปล่อยผ่านเครือข่ายคสช.ที่ร่วมในปฏิบัติการ IO มาอย่างต่อเนื่อง

แต่เหตุใด 1 ได้รับการปฏิเสธอย่างทันควัน

ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา

ขณะเดียวกัน 1 การตัดสินใจก็ทอดเนิ่นยาวอย่างยิ่ง

ทั้งๆที่คสช.เป็นผู้คุมกฎ กติกา ทั้งๆที่อำนาจอยู่ในมือของ 3 ป.อย่างเปี่ยมล้น

นี่คือ มิติและแนวโน้มใหม่ของ”การเมือง”

 

ตามปกติแล้วอาการไหลเอนไปทางกลุ่มที่กุมอำนาจทางการเมือง เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของการเมืองไทย สะท้อนความจัดเจนในการเลือกข้างอย่างปราดเปรียว

ใครเลือกเร็วก็ได้รับความไว้วางใจสูง ใครเลือกช้าอาจได้กระทรวงเกรดต่ำลงมา

เรื่องอย่างนี้นักการเมืองอย่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ผ่านมาแล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เรียนรู้มาเรื่อย ยิ่ง น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ยิ่งมากด้วยประสบการณ์

แล้วเหตุใดจึงไม่สามารถให้ “คำตอบ” ได้อย่างรวดเร็ว ฉับพลันทันใด

ปัจจัย 1 เพราะชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่ของจริง

ปัจจัย 1 เพราะมีป้อมปราการจากพันธมิตร 7 พรรคที่นำโดยพรรคเพื่อไทยยืนตระหง่านอยู่

ปัจจัย 1 เพราะมีพรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่

3 ปัจจัยนี้แหละที่ทำให้เกจิการเมืองจำเป็นต้อง”สุขุม”

 

ในที่สุดแล้วความโน้มเอนทางการเมืองก็จะเอียงไปทางคสช.ไปทางกลุ่มที่กุมอำนาจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอำนาจที่ได้มาไม่เหมือน เดิมอีกแล้ว

การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม นั่นแหละทำให้เปลี่ยนไป

อำนาจคสช.มิได้เข้มแข็งเหมือนเมื่อหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ที่กินรวบอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ชี้ต้นตาย  ชี้ปลายเป็น

หากแต่เป็นอำนาจที่จำเป็นต้อง”แบ่ง”ออกไป