E-DUANG : จุดต่าง พรรคสภา พรรคมวลชน ศึกษา จากกรณี “อนาคตใหม่”

ไม่ว่าการประกาศเดินหน้าเขย่าการเมืองผ่านการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ไม่ว่าการนำเสนอมาตรการปิดสวิตช์บทบาทและความ หมายของ 250 ส.ว.

สะท้อนลักษณะในทางการเมืองอย่างที่ นพ.ประเวศ วะสี สรุปว่า มากด้วย”กัมมันตะ”ของพรรคอนาคตใหม่

“กัมมันตะ” อันตรงกับคำว่า ACTIVE

ท่าทีเช่นนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนท่วงทำนองอันแผกต่างไปจาก พรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าพรรคการเมืองเก่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใหม่

ทำให้ลักษณะพรรคอันเรียกว่า “พรรคมวลชน” ผิดไปจากพรรคอันเรียกว่า “พรรคสภา”อย่างมีนัยสำคัญ

ยืนยันลักษณะในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง

 

พรรคการเมืองโดยทั่วไป ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์อันก่อรูปมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2489 และได้รับการยกย่องว่าเป็น พรรคซึ่งมีลักษณะเป็น”สถาบัน”สูงสุดในทางการเมือง

เป้าหมายด้านหลักยังจำกัดกรอบตนเองอยู่เพียงเป็น”พรรค สภา” เป็นที่รวมของบรรดา”นักเลือกตั้ง”

กิจกรรมที่เข้มข้นจึงแวดล้อมอยู่กับ “การเลือกตั้ง”

พื้นฐานของพรรคมีเป้าหมายเดียวเท่านั้น คือ รวมศูนย์และสนองความสำเร็จในการเลือกตั้ง

เมื่อหมดสิ้นฤดูกาลเลือกตั้ง บทบาทของพรรคก็หมดไป

ตรงกันข้าม พรรคอนาคตใหม่แม้จะเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งก็เสมอเป็นเพียงกระบวนการหนึ่งในการจัดตั้งรวบรวมบุคคล

เป้าหมายหลักอยู่ที่การปักธงในทาง “ความคิด” อาศัยการระดมกลุ่มบุคคลที่มีความคิดใกล้เคียงกันมาเป็นเส้นชี่วิตในการสร้างความเติบใหญ่

ดังนั้น แม้ผ่านการเลือกตั้งก็ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่เพียงตรงนั้น

 

จากนี้จึงเท่ากับว่า การปักธงในทาง”ความคิด”จึงเป็นรากฐานสำคัญในทาง”การเมือง” นำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างมีพลวัตไม่ว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้งก็ตาม

ทำให้ ความคิด การเมือง การจัดตั้ง เป็นองค์เอกภาพ

เป็นองค์เอกภาพที่เป็นรากฐานและก่อให้เกิดผลสะเทือนในเชิงพลวัตต่อกันและกัน

ลักษณะ”กัมมันตะ”จึงมีความสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน