E-DUANG : อนิจจัง แห่ง การเลือกตั้ง บ่อนเซาะ ระบอบ”คสช.”

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 อาจเป็นการเปิดตัว “ระบอบ คสช.”ขึ้นอย่างเก้ๆกังๆผ่าน”แม่น้ำ 5 สาย”และลงหลักปักฐานเป็น รูปธรรมมากขึ้นผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทสรุปอันรวบรัดยิ่ง

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” ในที่ประชุม ของพรรคพลังประชารัฐ

เห็นได้จากการก่อรูปขึ้นพรรคพลังประชารัฐและพันธมิตร

เห็นได้จากแม้พรรคพลังประชารัฐและพันธมิตรมิอาจเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามได้ แต่ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญก็ทำให้สามารถมั่นใจถึงกับเดินหน้าเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

      ในอีกด้านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมทำให้ภาพของ

“ระบอบคสช.”มีความแจ่มชัดขึ้น

 

ความแจ่มชัดนี้ด้านหนึ่งเท่ากับเป็นหลักประกันว่าด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ทำให้คสช.สามารถสืบทอดและต่ออายุของ “ระบอบคสช.”ไปได้อีก

แต่ขณะเดียวกัน โครงสร้างของ”ระบอบคสช.”ก็เริ่มปรากฏ ณ เบื้องหน้าประชาชน

แม้คสช.จะยังรักษาสิ่งที่เคยได้จากการรัฐประหารเมื่อเดือน พฤษภาคม 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง”แม่น้ำ 5 สาย”ผ่านรัฐบาลใหม่ ผ่าน 250 ส.ว.

แต่สภาพก็มิได้แข็งแกร่ง มั่นคงและเบ็ดเสร็จเหมือนที่เคยได้จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2562

นั่นก็คือ มิได้เป็นอำนาจในแบบ”กินรวบ”

ตรงกันข้าม เด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่าเป็นอำนาจในแบบ “กินแบ่ง” ทุกอย่างมิได้รวมศูนย์อยู่ที่คสช.และ พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

โอกาสที่”ระบอบคสช.”ถูกท้าทายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

ถึงแม้จะมีความมั่นใจว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” แต่เด่นชัดมากว่า อำนาจเบ็ดเสร็จมิได้อยู่กับ”พวกเรา”เช่นกับที่เคยมีหลังรัฐประหาร

รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งนั่นแหละที่บั่นรอน

เกิดการแบ่งอำนาจไปยังพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐ บาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน เกิดการกินแบ่ง มิได้เป็นการกินรวบ

นี่คืออนิจจังแห่งอำนาจ อนิจจังแห่งรัฐธรรมนูญ