E-DUANG : บทบาท เลือกตั้ง 24 มีนาคม บ่อทอง ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งๆที่คำว่า “สืบทอดอำนาจ” สร้างความแสลงใจอย่างยิ่งยวดให้กับคสช. ไม่ว่าจะเป็นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็นต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เห็นได้จากความพยายามในการมาแยกสลายความหมาย ของคำว่า “สืบทอดอำนาจ”

ไม่ว่าจะมาจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมาจาก แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะมาจากแกนนำพรรคประชาชนปฏิรูป

และระยะหลังเริ่มได้ยินจากบางส่วนภายในพรรคประชาธิ ปัตย์

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถลบให้เลื่อนไปโดยง่าย

 

น้ำเสียงไม่ว่าจะมาจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมาจากพรรค รวมพลังประชาชาติไทย และรวมถึงบางส่วนจากภายในพรรคประ ชาธิปัตย์

ถือเอา “การเลือกตั้ง” เป็น “เส้นแบ่ง” สำคัญ

นั่นก็คือ เห็นว่าภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม การดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นอีกโฉมหนึ่งในทางการเมือง

นั่นก็คือ เป็นนักการเมือง นั่นก็คือ เป็นนักประชาธิปไตย

ทั้งๆที่ร่องรอยอันเป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือน พฤษภาคม 2557 ยังดำรงอยู่ครบถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรม การยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. 250 คนอันแปลงโฉมมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)

ไม่ว่าผลพวงจากประกาศ คำสั่ง อันเป็นไปตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557

เท่ากับเพียงชั่วข้ามคืนก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เท่ากับยืนยันว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เท่ากับเป็นเหมือน”บ่อทอง”ชุบตัวให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

การดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเหมือนกับเป็นคนใหม่หากมองจากพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือบางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์

แต่ในสายตาของพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นคนใหม่ได้อย่างเป็นจริงหรือไม่

นี่คือมุมมองอันแตกต่างตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557