E-DUANG : ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า จากธรรมชาติ ถึง การเมือง

สถานการณ์อันปะทุขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมโดยเฉพาะที่พรรคอนาคตใหม่กำลังประสบ ไม่ว่ากับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล

ก่อให้เกิด “นัยประหวัด” ทางการเมืองได้อย่างกว้างขวาง กระจัดกระจาย

บางคนนึกถึงสถานการณ์เมษายน พฤษภาคม 2553 บางคนนึกถึงสถานการณ์พฤษภาคม 2535 และบางคนไปไกลถึงสถานการณ์ตุลาคม 2519

เพราะมี”เสียง”และ “กลิ่น” หลายเรื่องปรากฏให้เห็น

เป็นเสียงเหมือนที่ดังมาจากสถานีวิทยุยานเกราะ เป็นกลิ่นเหมือนที่แว่วมาจากในที่ประชุมศอฉ.

สายตาที่มองไปยังพรรคอนาคตใหม่จึงแฝงความห่วงใย

 

แท้จริงแล้วการตระเตรียมเพื่อนำไปสู่สถานการณ์แบบเดือนตุลา

คม 2519 นั้นเริ่มสัมผัสได้ตั้งแต่หลังสถานการณ์เดือนคม 2516 มาแล้ว

เห็นได้จากการป้ายสี นายธีรยุทธ บุญมี เห็นได้จากการป้ายสี นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล

เห็นได้จากบทบาทของนวพล บทบาทของกระทิงแดง

เช่นเดียวกับ เมื่อมีการปล่อย”ผังล้มเจ้า” ออกมาจากศอฉ.พร้อมกับตัวละครมากมายที่เป็นเป้าหมายจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเอาไว้แล้วว่าที่ตามมาในเดือน เมษายน พฤษภาคม 2553 จะเป็นอย่างไร

เพราะคนแถลงก็ยอมรับต่อ”ศาล”มาแล้วว่าเป็นเรื่องไม่จริง

เมื่อมีการโหมกระหน่ำในเรื่อง”ล้มเจ้า ภาค 2″โดยการประสานระหว่างเจ้าหน้าที่แห่งรัฐกับนักเคลื่อนไหวที่เคยสัมพันธ์กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกปปส.

คนที่ผ่านเหตุการณ์มาย่อมกระสาได้ใน”กลิ่น”

 

ก่อนฝนตกใหญ่ย่อมมีเสียงฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ก่อนฝนตกบรรดามดย่อม คาบไข่ คาบเหยื่อ หาที่หลบซ่อนพักพิง นั่นคือการเรียนรู้จากธรรม ชาติ เรียนรู้จากประวัติศาสตร์

เช่นเดียวกับเมื่อผ่านการเลือกตั้งมาใหม่หมาดๆ

หลายคนย่อมสัมผัสได้ในความผิดปกติ ไม่ว่าความผิดปกติก่อนการเลือกตั้ง ความผิดปกติหลังการเลือกตั้ง

เพียงแต่ว่าความผิดปกตินี้สร้างขึ้นหรือว่าเกิดขึ้นเองเท่านั้น