E-DUANG : คำถาม เลือกตั้ง บานปลาย คำถาม กกต. คำถาม คสช.

ใครก็ตามที่ติดตาม “ปฎิกิริยา”ในทางสังคมที่มีต่อการจัดการเลือก ตั้งของกกต.โดยเฉพาะในวันที่ 24 มีนาคม จะสัมผัสได้ในรายละ เอียดของการเปลี่ยนแปลงได้ไม่ยากนัก

แม้จะยังเห็นบุคคลเช่น นายอานนท์ นำภา หรือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อันถือว่าเป็นคนหน้าเดิม

แต่ถ้าหากเจาะลึกลงไปในแต่ละ”มหาวิทยาลัย”

ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยบูรพา ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยราชภัฎ ฉะเชิงเทรา

ก็จะสัมผัสได้กับคนหน้าใหม่ และเป็นคนหน้าใหม่อันอยู่ในกลุ่ม 7 ล้านกว่าคนที่เพิ่งลิ้มรส”การเลือกตั้ง”

แล้วประสบกับความผิดหวัง เจ็บปวด

 

บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในคสช. ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาล ไม่ว่าจะอยู่ในแต่ละพรรคการเมือง หากเปิดใจให้กว้างและติดตามบทบาทของพวกเขาอย่างใกล้ชิด

จะมองเห็นพัฒนาการที่เติบใหญ่มากยิ่งขึ้น

อาจเป็นเพราะได้ยินเสียงสำทับดังมาจากกกต. อาจเป็นเพราะได้เห็นการยืนเข้าแถวเรียงกระดานหน้า 1 ของผบ.เหล่าทัพ

และรวมถึงการส่งทหาร ตำรวจเข้าประกบ

ที่มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพียงสถาบันการศึกษาในส่วนกลางก็เริ่มแพร่ขยายออกไปไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น เชียงใหม่ เหนือ ใต้ ตกออก

จาก 5-6 สถาบัน เพิ่มขึ้นเป็น 19 สถาบันและกำลังทะยานไปสู่ 20 กว่าสถาบัน

ลักษณะ”ร่วม”ของพวกเขาคืออะไร

คือ ความแคลงคลาง กังขา ต่อการปฏิบัติงานของกกต.ว่าดำ เนินไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรมหรือไม่ หรือว่ามีวาระซ่อนเร้นบางประการในทางการเมือง

เป็นคำถามโดยตรงไปยัง”กกต.”เนื่องแต่การเลือกตั้ง

 

คล้ายกับทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่การทำงานของกกต. แต่เนื่องจากกกต.เป็นผลผลิตของคสช. และคสช.กำเนิดเกิดมากับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ทุกอย่างจึงดำเนินไปหลักแห่งเมื่อมีสิ่งนี้จึงเกิดสิ่งนี้ตามมา

คำถามที่เริ่มจากกกต.จึงมีโอกาสบานปลายขยายเป็นคำถามต่อคสช. คำถามต่อรัฐประหาร