E-DUANG : ประชาธิปัตย์ แยก แตกตัว ปรากฏการณ์ ฝ่ายค้านอิสระ

ปรากฏการณ์อันกำลังเกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์อันเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปภายในสังคมไทยได้อย่างเด่นชัด

ถามว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก่อนรัฐประ หารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร

คำตอบอย่างหลวมๆก็คือ เอนเอียงไปทาง”รัฐประหาร”

จะแตกต่างในรายละเอียดอยู่บ้างก็ตรงที่หลังรัฐประหารเมื่อ เดือนกันยายน 2549 พรรคประชาธิปัตย์ได้อานิสงส์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2551

แต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อรอคอยมาถึงเดือนมีนาคม 2562 พรรคประชาธิปัตย์กลับกลายเป็นเหยื่อ

กลายเป็น 2 ขั้ว กลายเป็น 2 แนวทาง

 

ความจริงหลังเดือนพฤษภาคม 2557 ร่องรอยแห่งความขัดแย้งก็ปรากฏให้เห็น ระหว่างท่าทีของสมาชิกที่เป็นแกนนำกปปส.กับสมาชิกที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนของกปปส.ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เห็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็น”รัฐบาลของเรา”

แต่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ไม่รู้สึกเช่นนั้นไปด้วย

การหวนกลับเข้าพรรคของแกนนำกปปส.บ่งบอกเจตนประสงค์ว่าต้องการจะยึดพรรค แต่เมื่อไม่สำเร็จก็รอคอยและปะทุให้เห็นเมื่อมีการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครองตำแหน่งหัวหน้าพรรคและรับผิดชอบต่อการเลือกตั้ง และเมื่อการเลือกตั้งประสบความพ่ายแพ้โดยเฉพาะแม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ

แนวทางของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็กลายเป็นแพะรับบาปได้รับการขยายจากอีกฝ่ายเพื่อสร้างเงื่อนไขไปสู่การหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นี่คือทาง 2 แพร่งของพรรคประชาธิปัตย์

 

ปรากฏการณ์ของข้อเสนอ”ฝ่ายค้านอิสระ”อันมาจาก New Dem คือทางเลือกใหม่เพื่อความอยู่รอดในระยะยาวไกลให้กับ พรรคประชาธิปัตย์

นั่นคือ การปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหมือนกับสังคมไทยได้เกิดปรากฏการณ์ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจของคสช.

ความหมายก็คือ ปฏิเสธการรัฐประหาร ที่มีมากขึ้น มากขึ้น