E-DUANG : ผลสะเทือน จาก เทคโนโลยี กับ การเลือกตั้ง 24 มีนาคม

ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีใด ไม่ว่าจะสังกัดกลุ่มและพรรคการเมืองใดต่างยอมรับในลักษณะ”ร่วม”ประการหนึ่งว่า อินเตอร์เน็ต โลกออนไลน์ ได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

นี่คือความแตกต่างอันสะท้อนผลสะเทือนในทาง”เทคโนโลยี” อย่างเด่นชัด

ไม่เพียงแต่ต่างไปจากในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

หากแต่ยังต่างไปจากยุคแห่งการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

เพราะการเข้ามาของ “อินเตอร์เน็ต” เพราะบทบาทของอุป กรณ์พกพาผ่าน “สมาร์ทโฟน”

ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆขึ้น มากมายในทางการเมือง

 

ตัวอย่างหนึ่งก็คือ การปราศรัยที่แต่เดิมจำกัด”พื้นที่”อย่างแจ่มชัดแน่นอน

เป้าหมายก็คือ มวลชนที่เข้าร่วมรับฟังหน้าเวที

อาจมีการบันทึกจัดทำเป็น”วิดิโอ” อาจมีการนำเสนอเป็นข่าว ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ หรือบางส่วนผ่านจอโทรทัศน์หรือวิทยุกระจายเสียง

แต่กล่าวสำหรับการปราศรัยหาเสียงในยุคแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มิได้จำกัดพื้นที่เพียงแค่นั้น

ตรงกันข้าม สามารถถ่ายทอดสดผ่าน “เฟซบุ๊ค ไลฟ์” รับฟังได้ทันทีพร้อมๆกับผู้ที่อยู่หน้าเวทีปราศรัย สามารถแสดงความคิดเห็นโต้แย้งอย่างชนิดคำต่อคำ

จากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถจัดทำเป็นคลิป เป็นวิดิโอ ผ่านช่องทางยูทูบ ปรากฏเป็นหลักฐานอ้างอิงหรือเรียกฟังได้ตาม ความต้องการ

บรรยากาศของการรับฟังคำปราศรัยทางการเมืองจึงแพร่สะพัดเข้าไปในทุกเทศะแม้กระทั่งในห้องน้ำ

 

การเข้ามาของ “เทคโนโลยี” จึงมีผลอย่างลึกซึ้งต่อ “การเลือกตั้ง”

ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน

ภาพของ “การเมือง”จึงมิได้ปรากฏใน “ปัจจุบันขณะ”

หากแต่ดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างยาวนาน สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาตลอดสอบได้

นับแต่นี้เป็นต้นไป “การเมือง” จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว