E-DUANG : บทสรุป ผู้ใหญ่ ต่อ วัยรุ่น คนเมือง กับ คนบ้านนอก

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์ภาพสวมเสื้อผ้าร่มทับเสื้อยืดโปโล ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว พร้อมข้อความ “มาออกกำลังกาย # ผมพร้อม”

ก็มีคนกด “ไลก์” เข้าสู่หลักหมื่น ตามมาด้วยความห่วงหาอาทรมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น “วัยรุ่นอย่าดูคนฉาบฉวยนะคะ หมั่นศึกษาหา ความรู้อย่างจริงจัง ค่อยตัดสินใจ เชียร์ลุงค่ะ” ไม่ว่าจะเป็น ” เป็นกำลังใจให้ค่ะ ลุงทำงานหนักมาก บ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปใน ทางที่ดีขึ้น

อย่าหลงเชื่อวาทกรรมทางการเมือง เขาได้คะแนนคุณแล้วเขาจะทำอะไรก็อีกเรื่อง ดูกันที่ผลงานดีกว่าค่ะ”

ถ้อยคำ สำนวน เหล่านี้ สะท้อน “กลิ่นอาย”

 

แน่นอนเป็นกลิ่นอายที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับ “ลุง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ก็เป็นกลิ่นอายในท่วงทำ นองแบบเดียวกับบรรดาลุงๆป้าๆก่อนหน้านี้

ไม่ว่าจะเป็นของ “ลุงเสรี” ไม่ว่าจะเป็นของ”ป้าสินจัย”

ขอให้พิจารณาจากเนื้อความ “วัยรุ่นอย่าดูคนฉาบฉวย” ขอให้พิจารณาจากเนื้อความ “อย่าหลงเชื่อวาทกรรมทางการเมือง”

เด่นชัดว่าคนที่เขียนข้อความเหล่านี้มิได้เป็น “วัยรุ่น” หากแต่น่าจะเป็นวัยใกล้เคียงกับ “ลุงๆป้า”

ต้องการดึงคะแนนมาจาก “วัยรุ่น” อย่างแน่นอน

แต่เนื่องจากมิได้เป็น “วัยรุ่น” หากพ้นไปจากสภาวะแห่งความเป็น “วัยรุ่น” แล้วเป็นอย่างมาก จึงมอง “วัยรุ่น” ด้วยความคลางแคลงไม่แน่ใจ

นั่นก็คือ คิดว่ารู้น้อย คิดว่ามีโอกาสถูกหลอก

หากนำเอา “เนื้อความ”เหล่านี้ไปวางเรียงเคียงกับความห่วงใยของ”ลุงเสรี” ของ”ป้าสินจัย”ก็จะได้คำตอบ

เป็นคำตอบของลุงๆป้าๆที่มอง”วัยรุ่น”อย่างเหยียด เหยียด

 

ผู้ใหญ่บางคนก็เป็นเช่นเดียวกับคนชั้นสูงบางคน นั่นก็คือ ผู้ใหญ่มักจะมอง”วัยรุ่น”ไม่ขึ้น คนชั้นสูงมักจะมอง”คนบ้านอก”ไม่ขึ้น

นั่นก็คือ เห็นว่า”วัยรุ่น”ยังเยาว์ ยังเขลา

นั่นก็คือ เห็นว่า “คนบ้านนอก” ไร้การศึกษา ถูกหลอกทั้งด้วย อามิสและวาทกรรม

ต้องการ”เสียง” แต่ก็ยังถูก “ดูถูก”