E-DUANG : ผลพลอยได้ จาก รัฐประหาร ผลักพัฒนาการ สื่อออนไลน์

ทั้งๆที่ “กสทช.” เพิ่งออกคำสั่ง “จอดำ” ให้กับวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 15 วัน แต่มิได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “วอยซ์ ทีวี” ได้หายไปจากแวดวงสื่ออย่างสิ้นเชิง

เสียงของ “ใบตองแห้ง” เสียงของ “สาวแขก” คำผกา ปันวิชัย ก็ยังเจื้อยแจ้วอยู่เหมือนเดิม

เพียงแต่มิได้ปรากฏผ่านช่อง 21

ตรงกันข้าม เมื่อวอยซ์ ทีวี ช่อง 21 เกิดปรากฏการณ์”จอดำ” พวกเขาก็จัดรายการผ่านช่องทางออนไลน์ เรียกแขกด้วยความคึกคัก

แม้จะไม่สามารถมี “ผู้อุปถัมภ์” รายการเหมือนเดิม แต่ก็สามารถสร้าง”เรตติ้ง”มาเป็นพื้นฐานอย่างสำคัญ

เท่ากับคำสั่ง”กสทช.”แทบไม่มีความหมาย

 

ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของ “เทคโนโลยี” ในยุคดิจิทัลทำให้ช่อง ทางของสื่อเปิดกว้าง

มิได้ถูกจำกัดเหมือนกับอยู่ในยุค”อะนาล็อก”

ในความเป็นจริง สื่อทุกสื่อมิได้ใช้ช่องทางเก่าอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ ล้วนมีช่องทางของ “ออนไลน์”

เพียงแต่บางแห่งเน้น”ออนไลน์”อย่างจริงจัง บางแห่งยังทำเป็นเหมือนสำรอง

แต่พลันที่”กสทช.”เริ่มมาตรการเข้ม ก็เท่ากับบีบบังคับและกดดันโดยปริยายให้สื่อเริ่มตระหนักว่า ความเปราะบางของสื่อที่อยู่ในความกำกับอย่างเข้มแข็งดำรงอยู่ค่อนข้างเสี่ยง

การที่ทีวีดิจิทัลประสบวิกฤตอย่างต่อเนื่องคือตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดว่าปัญหาใหญ่มาจากสถานการณ์ทางการเมือง

สถานการณ์”รัฐประหาร”เท่ากับ “มัดตราสัง”

      ประกาศและคำสั่งจำนวนมากเท่ากับเป็นข้อจำกัดมิให้สื่อสำแดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มเปี่ยม

 

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ด้านหนึ่ง จำกัดสิทธิเสรีภาพให้กับสื่อ ทำให้สื่อตกอยู่ภายใต้โครงกรอบเหมือนกับปว.17 ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็เป็นกลไกที่บีบให้สื่อจำเป็นต้อง พัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

เพราะนี่คือช่องทางใหม่ที่เปิดกว้างได้มากกว่า

พัฒนาการของสื่อออนไลน์”รัฐประหาร”จึงมีส่วนอย่างสำคัญ