E-DUANG : อิทธิพล คนพูด กับ คนฟัง กรณี สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ปรากฏการณ์ที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศด้วยเสียง ดังฟังชัด บนเวทีปราศรัยที่จังหวัดร้อยเอ็ด ว่า

“ใครอยากจะกอดมาเลย มารับเลย หน่อยจะลงไปกอดทุกคน”

จากนั้นก็กระโดดลงจากเวทีไปหา”มวลชน”

ไม่เพียงแต่เท่ากับแปรเวทีปราศรัยทางการเมืองให้ใกล้เคียง กับเวทีคอนเสิร์ทเท่านั้น

หากแต่ยังทำให้ประจักษ์ถึง”มนต์ขลัง”ของ “มวลชน”

การอยู่ในท่ามกลางมวลชนเรือนพันเรือนหมื่นได้ก่อให้เกิดสภาพอย่างที่เรียกว่า “สมารมณ์” หรือ “อารมณ์ร่วม”ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ไม่ว่า “นักร้อง” ไม่ว่า “นักการเมือง”

 

จะทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ ต้องทำความเข้าใจถึงผลสะเทือนระหว่าง “คนพูด” กับ “คนฟัง”

ในเบื้องต้นคล้ายกับว่า “คนพูด” เป็นฝ่าย “กำหนด”

นั่นก็คือ ต้องการให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามอย่างไรก็ป้อน สารลงไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากเรื่อยๆมาเรียงๆแล้วเพิ่มความเข้มลงไป

นี่ย่อมเป็นกระบวนการในการสร้างอารมณ์”ร่วม”ระหว่างคนพูดกับคนฟัง

ความสำคัญอยู่ที่เมื่อคนฟังบังเกิดอารมณ์”ร่วม”คล้อยตามสารที่คนพูดนำเสนอเข้ามาอย่างเป็นระบบก็จะนำไปสู่ปฏิกิริยาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เริ่มจากปรบมือ หัวเราะชอบใจ กระทั่งโห่ร้องและลุกขึ้นชูมือไม้ขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน

มาถึงตอนนี้การแสดงออกของ”คนฟัง”ก็เริ่มเป็นปัจจัยกำหนดการแสดงออกของ “คนพูด”

กลายเป็น”คนฟัง”ต่างหากที่กำหนด”คนพูด”

 

ยิ่งคนพูดพูดเก่งมากเพียงใด ยิ่งสามารถกำหนดอารมณ์ให้กับคนฟังได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ขณะเดียวกัน การขานรับของคนฟังก็ค่อยๆก่ออิทธิพล

เป็นอิทธิพลที่จะไปกำหนดบทบาท กำหนดเนื้อหาของคนพูดให้ทวีความดุเดือดเข้มข้น

กระทั่งถึงขั้นกระโดดลงจากเวทีปราศรัยลงไปหาในที่สุด