E-DUANG : โลกอินเตอร์เน็ต โลกออนไลน์ กับ การเลือกตั้ง ศตวรรษที่ 21

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคอนาคต ใหม่ ล้วนมี “พื้นที่”ของตัวเองในโลก “ออนไลน์”

ยิ่งพรรคไทยรักษาชาติ ยิ่งสร้างความคึกคัก

ที่เคยมีเสียงค่อนขอดว่า พรรคอนาคตใหม่ เติบใหญ่โดยผ่าน พื้นที่โลก”ออนไลน์” กลายเป็นว่าทุกพรรคการเมืองต่างกำลังสร้าง “พื่นที่”ให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าโดยผ่าน “พรรค” ไม่ว่าโดยการเปิด “เฟซบุ๊ค” ส่วนตัวของแต่ละคน

นี่ย่อมเป็น “ช่องทาง” ที่จะ “สื่อ”โดยตรง

ยิ่งเมื่อเดินสายจัดตั้ง “เวที” ปราศรัย ยิ่งมีความจำเป็นต้องถ่ายทอดสดผ่าน”เฟซบุ๊คไลฟ์”

แฟนานุแฟนรับฟังพร้อมกันทั่วประเทศ

 

ภาพการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักษาชาติ

หาดูไม่ได้ใน “สื่อเก่า” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์

ตรงกันข้าม สามารถติดตามได้ผ่าน”ออนไลน์”

ไม่ว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะไปที่หนองคาย ไม่ว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะไปที่อุดรธานี ไม่ว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง จะไปที่ระยอง ไม่ว่า นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ จะไปที่นครศรีธรรมราช

ได้ยินเสียง เห็นหน้าเห็นตาครบถ้วน สมบูรณ์

รับฟังไม่ได้หรอกผ่านจอโทรทัศน์ ไม่มีโอกาสได้อ่านหรอกในหน้าหนังสือพิมพ์

นี่คือการรุกอย่างสำคัญยิ่งในทาง “เทคโนโลยี”

ด้านที่กำลังมีและขยายบทบาทใหญ่โต กว้างขวางเป็นลำดับ คือการสื่อผ่าน “ออนไลน์”

 

การเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2562

แตกต่างไปจาก “อดีต” อย่างสิ้นเชิง

เส้นแบ่งอย่างสำคัญเกิดจาก “เทคโนโลยี” เกิดจากการเข้ามาของ “อินเตอร์เน็ต” และ”สมาร์ทโฟน”และรุกเข้าไปยึดครองในทุกพื้นที่อย่างรวดเร็ว

ไม่ว่าใน “มหานคร” ไม่ว่าใน “ชนบท” อันไกลห่าง