E-DUANG : ผลพวง ความหวังดี คสช. ผ่าน “มาตรา 44” ต่อกกต.

พลันที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2561 ประกาศและบังคับใช้ แม้ทุก อย่างจะเป็นไปอย่างที่มีคำอธิบายตามมาจากคสช.และรัฐบาลว่า ต้องการให้ความคุ้มครองกกต.ในเรื่องของการแบ่งเขต

เหมือนกับอำนาจจากมาตรา 44 จะแผ่คลุมมายังบทบาทของกกต.โดยอัตโนมัติ

เป็นความปรารถนาดีจาก “คสช.”อย่างเด่นชัด

แต่ภายใน “รายรับ” อันกกต.ได้มาจากคสช.ได้มาจากมาตรา 44 ในอีกด้าน “รายจ่าย” ก็บังเกิดขึ้นต่อสถานะและภาพลักษณ์ของกกต.โดยอัตโนมัติ

นั่นก็เท่ากับว่า “คสช.” ได้เข้ามาแสดงบทบาทอยู่เหนือ”กกต.” อย่างเป็นรูปธรรม

สายตาที่มอง”กกต.”ก็เริ่มขาดความเชื่อถือ

 

เกี่ยรติภูมิและการดำรงอยู่ของ”กกต.”นับแต่ชุดแรกกำเนิดขึ้นภาย ใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือ สถานะแห่งความเป็น”องค์กรอิสระ” เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เสรีและเที่ยงธรรม

แม้จะผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มาแต่การดำรงอยู่ของกกต.ก็ยังอยู่อย่าง”องค์กรอิสระ”

อาจจะมี”อำนาจพิเศษ” แต่ก็ดำเนินไปอย่างลึกลับ

ไม่ว่าจะเป็นชะตากรรมของกกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา พูนลาภ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาและการแสดงบทบาทของกกต.ชุด นายศุภชัย สมเจริญ

ก็เป็นไปในแบบที่เรียกขานกันว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” เป็นสำคัญ

เพิ่งจะมีภายหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 นั่นแหละที่อำนาจจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญได้เข้าไปวางอำนาจอยู่เหนือกกต.

อำนาจอันได้มาจากคสช.ได้มาจากมาตรา 44 จึงมีผลต่อสถานะและความน่าเชื่อของกกต.เป็นอย่างสูง

 

ยิ่งเมื่อคสช.จัดประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สายกับพรรคการเมืองและมีผลสะเทือนในเรื่องการพิมพ์รายละเอียด”บัตรเลือกตั้ง”ออกมายิ่ง สร้างผลสะเทือนต่อกกต.

ท่าทีของหลายพรรคการเมืองเด่นชัดยิ่งว่าคลางแคลงต่อสถา นะและความเป็น”องค์กรอิสระ”ของกกต.

เด่นชัดว่ามิได้อิสระไปจาก”คสช.”แน่นอน

ความน่าเชื่อถือของ”กกต.”กำลังกลายเป็นประเด็นทางสังคม