E-DUANG : ธรรมชาติ ของ ความขัดแย้ง คนรุ่นใหม่ กับ อนาคตใหม่

การแยกและแตกตัวภายใน “พรรคอนาคตใหม่” ที่เกิดขึ้นมิได้เป็นสถานการณ์แปลกพิสดารอะไรเลย ไม่ว่าจะพรรคการเมืองปีกซ้าย ไม่ว่าจะพรรคการเมืองปีกขวา

จำพรรคความหวังใหม่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2535 ได้หรือไม่

เพียง 1 เดือนก็เกิดการแยกแตกตัว

เมื่อ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งมาดหมายตำแหน่งเลขาธิการ

ถูกแย่งชิงโดย นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ก็แยกตัวออกไปแล้วไปตั้งหลักวิพากษ์อย่างดุเดือด

ยิ่งพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 ยิ่งมากด้วยความเข้มข้น

เข้มข้นจากการแยกตัวออกไปของ นายคณิต ณ นคร

 

บทสรุปสำคัญของแต่ละพรรคการเมืองมีลักษณะร่วมกันคือการเติบใหญ่ของพรรคมาจากความขัดแย้งภายใน เพราะนั่นคือการต่อสู้ในทางความคิด

พรรคประชาธิปัตย์เริ่มแตกตั้งแต่ นายเลียง ไชยกาล แยกออกมาตั้งพรรคประชาชน

นายเทพ โชตินุชิต แยกออกมาอยู่ในแนวสังคมนิยม

ยิ่งการแยกแตกตัวในยุค นายสมัคร สุนทรเวช ยิ่งเข้มข้นพอๆกับการแยกแตกตัวในยุค นายอุทัย พิมพ์ใจชน ตลอดจน นายวีระ มุสิกพงศ์

ขณะที่พรรคไทยรักไทยก็เหมือนพรรคอนาคตใหม่ เมื่อมีการดึงตัว นายเสนาะ เทียนทอง เข้ามา มือกฎหมายระดับ นายคณิต ณ นคร ก็ถอนตัว

การแยกและแตกตัวภายในพรรคอนาคตใหม่อาจเป็นเรื่องอึกทึกแต่ก็เป็นเรื่อง”ภายใน”ที่สามารถเกิดขึ้นได้

โดยเฉพาะในพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ประเภทเสรีนิยม

 

หากถือเอาเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นจุดเริ่มพรรคอนาคตใหม่ก็มีอายุเพียงไม่กี่เดือน

เป็นไม่กี่เดือนในท่ามกลางการเคลื่อนไหว

เมื่อเป็นการเคลื่อนไหวในทาง “ความคิด” ประสานกับการขับเคลื่อนในทาง “การเมือง”ก็ย่อมมีผลสะเทือนไปถึงภายในองค์ ประกอบในทาง “จัดตั้ง”

การขยับ ปรับเปลี่ยน ภายในจึงปะทุขึ้นตามกฎธรรมชาติ ไม่ว่าการเมืองหรือสังคม