E-DUANG : วัฒนธรรมแร็พ ประเทศกูมี วัฒนธรรมลำตัด เพลงอีแซว

ใครก็ตามที่เริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์บทเพลง “ประเทศกูมี” ด้วยการตั้งข้อรังเกียจในเรื่องการใช้ถ้อยคำว่า “ไม่สุภาพ”

ทำไมต้องด่า ทำไมต้องมีคำว่า “กู”

นั่นเท่ากับแสดงว่าใครคนนั้นไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมชาติและความเป็นจริงของ “แร็พ”

“แร็พ” สื่อสารแบบนี้อย่างเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว

กำเนิดแห่งบทเพลง “ประเทศกูมี” ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ก็มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ชุมชนแร็พ”

เพียงแต่เมื่อมีการพัฒนาในเดือนตุลาคม 2561 มีความต้องการสื่อไปในกรอบที่ “กว้าง”มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงความเป็นแร็พอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

เมื่อไม่รู้เรื่อง”แร็พ” ก็จะไม่เข้าใจ”แร็พ”

 

ท่าทีอันสะท้อนความไม่เข้าใจ “แร็พ” ก็เหมือนกับที่ผู้ดีบางคนตำหนิเพลงลำตัด เพลงอีแซว ทำไมถึงไม่สุภาพ ส่วนใหญ่มักเล่น ต่ำกว่าสะดือ

เหมือนกับเอา “ละคอนนอก” ไปวางเรียงอยู่เคียงข้างกับ”ละคอนใน”

ทั้งๆที่ “เป้าหมาย”แตกต่างกัน

การวิจารณ์ที่ถูกต้องคือ ต้องทำความเข้าใจต่อความเป็นจริงของศิลปะแต่ละอย่าง หากไม่เข้าใจธรรมชาติและความเป็นจริงที่มีอยู่ในศิลปะนั้น

ก็จะไม่เข้าใจ “สาร” อันศิลปะนั้นๆต้องการนำเสนอ

“ประเทศกูมี” มีเป้าหมายอันแจ่มชัดตามธรรมชาติและความ เป็นจริงของ “แร็พ”

นั่นก็คือ มีลักษณะ”ขบถ” นั่นก็คือ “สื่อ”ตรงไปตรงมา

      หากศึกษา”ประเทศกูมี”อย่างเข้มงวด การนำเสนอค่อนข้างจะเป็น “ปัญญาชน”ทั้งๆที่รากที่มาของแร็พแนบแน่นอยู่กับคนระดับล่าง คนชายชอบที่ถูกทอดทิ้ง ถูกกดขี่

 

ภายหลังจาก “ประเทศกูมี” ทะลุหลัก 20,000,000 วิวผลสะเทือนจึงมีอย่างล้ำลึก

ล้ำลึกไปยัง เป้าหมายทาง”การเมือง”

ล้ำลึกไปยัง รากฐานและความเป็นจริงของวัฒนธรรมแร็พไม่เพียงแต่จากต่างประเทศ หากแต่ยังโยงสายยาวไปยังวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย

ปรากฏการณ์”ประเทศกูมี”จึงลึกซึ้ง กว้างไกล