E-DUANG : พัฒนาการ ของ เพลงประท้วง “สานแสงทอง” ถึง “ประเทศกูมี”

การปรากฏขึ้นของเพลงแรพ “ประเทศกูมี” กำลังสร้างสภาพการณ์ใหม่ขึ้นในโลกของดนตรี

เป็นดนตรีประเภท PROTEST อย่างที่เรียกกันยุค 1960

เป็นดนตรีประเภท “เพลงประท้วง”อย่างที่เรียกกันตั้งแต่ยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516

และต่อมาเรียกว่า “เพลงเพื่อชีวิต”

หากถือว่า “สานแสงทอง” คือความริเริ่มจากเวทีชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเดือนมิถุนายน 2516

ต้องยอมรับว่า “ประเทศกูมี” คือพัฒนาการ

น่าสนใจก็ตรงที่ “ประเทศกูมี” เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 และได้รับการปรับแต่งสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม 2561

กลายเป็น”หมุดหมาย”สำคัญของ “เพลงประท้วง”

 

ไม่ว่า PROTEST SONG ในสังคมอเมริกา เริ่มต้นจากสภาพ ความเป็นจริงของอเมริกา

เช่นเดียวกับ “เพลงประท้วง”ของไทย

บรรดาเยาวชนคนหนุ่มสาวซึ่งเติบใหญ่ในยุคที่มีฐานทัพอเมริกากระจายอยู่หลายแห่งในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตั้งแต่ตาคลี อู่ตะเภา ยันโคราช สกลนคร อุดรธานี และอุบลราชธานี

ย่อมสัมผัสกลิ่นอายเพลงที่ GI ชมชอบ

จึงเป็นที่มาของเพลงในแบบ”สานแสงทอง” จึงเป็นที่มาของเพลงในแบบ “กูจะปฏิวัติ”

ผ่านจากยุค 14 ตุลา มายังยุคของ “คสช.” จุดเริ่มต้นของบทเพลงกลับเริ่มจากบรรดา “แรพเปอร์”ที่สัมพันธ์กับ “เฮวี เมทัล”

      กระทั่งกลายเป็น “ประเทศกูมี”ในที่สุด

 

อาจเพราะ“ประเทศกูมี”เริ่มนำเสนอในเดือนมิถุนายน 2559 และมีการปรับแต่งจนลงตัวจึงปล่อยออกมาในเดือนตุลาคม 2561

จึงสอดรับกับบรรยากาศ 45 ปี 14 ตุลาคม

สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งได้กลายเป็น”เนื้อดิน”อย่างดีให้กับการเปิดตัวของ “ประเทศกูมี” มิใช่บนเวทีสด ตรงกันข้าม ผ่านทางยูทูบ

ประกาศตนเป็น”เพลงประท้วง”ในยุค “ดิจิตัล”เต็มเปี่ยม