E-DUANG : “นโยบาย” กับ ทิศทาง “เลือกตั้ง” นั่นคือเอา คสช. กับ ไม่เอาคสช.

ถึงแม้นับจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา ชัยชนะของพรรคไทยรักไทย จะทำให้การแข่งขันในเรื่อง”นโยบาย”มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

สำคัญชี้ขาดชัยชนะในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548

แต่ภายหลังผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กลยุทธ์ ในเรื่อง “นโยบาย” จะมีบทบาทและความหมาย แต่ประเด็นเรื่องรัฐประหารก็เริ่มเข้ามามีผลสะเทือน

ผลสะเทือนต่อการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 และมีผลสะเทือนต่อเนื่องไปยังการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554

แต่เมื่อเกิดรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ซ้ำเข้ามาอีก

ผลสะเทือนจากกรณี “รัฐประหาร”ทำท่าว่าจะกลายเป็นด้านซึ่งครอบงำกระบวนการ “เลือกตั้ง”มากยิ่งขึ้น

 

การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีกระแสเร่งเร้าในเรื่องของ “นโยบาย” ต่อแต่ละพรรคการเมือง

แต่เมื่อปรากฏ “พรรคพลังประชารัฐ”

แต่เมื่อปรากฏ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ประสานเข้ากับ “พรรคประชาชนปฏิรูป”

กระบวนการของ “นโยบาย”ก็เริ่มมี “ปัญหา”

ในเมื่อพรรคประชาชนปฏิรูป พรรครวมพลังประชาชาติไทย งอก่องอขิงอยู่ ณ เบื้องหน้าการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในเมื่อพรรคพลังประชารัฐสะท้อนความต่อเนื่องของนโยบาย “ประชารัฐ” ภายใต้การขับเคลื่อนโครงการ”ไทยนิยม ยั่ง ยืน”

อย่าได้แปลกใจหากจะมีคำประกาศไม่ว่าจะจากลอนดอน ไม่ว่าจะจากสิงคโปร์

นโยบาย คือ ทำตรงกันข้ามกับคสช.”

 

มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นว่ากระแสของการเคลื่อนไหวหาเสียงการ เลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แม้นโยบายจะยังมีความสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น

1 จะเป็นการประจันหน้าระหว่างคสช.กับฝ่ายที่ไม่เอากับคสช.

นั่นหมายถึง 1 เอารัฐประหาร 1 ไม่เอารัฐประหาร

ประเด็น”การเมือง”จะได้รับการชูขึ้นสูงเด่นและกลายเป็น “นโยบาย”สำคัญ