E-DUANG : พัฒนาการ ไทยแลนด์ 4.0 สภาพ การเมืองในยุค 0.4

บรรดา “ดร.”แห่งพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะใช้คำหะรูหะราอย่างไรก็ได้ที่จะสะท้อนภาพแห่งการเมือง 4.0 ออกมา

แต่ความเป็นจริงที่ “ชาวบ้าน”สัมผัสร่วมกัน

ไม่ว่าการห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่า การห้ามการจัดงานระดมทุน

ยิ่งในเรื่องของ “โซเชียล มีเดีย” ยิ่งละเอียดอ่อน

ความคิดที่จะเปิดหน้าร้านผ่านการซื้อขายในระบบ E ทั้งหลายอาจเป็นเรื่องคึกคักอย่างยิ่งในสังคมที่เต็มเปี่ยมแห่งยุค 4.0 และพร้อมทะยานไปยัง 5.0

แต่กับสังคมการเมืองไทยกลับกลายเป็น “ต้องห้าม”

 

สังคมไทยเคยเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านอย่างสำคัญในทางการเมืองจากผลสะเทือนของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

นั่นก็คือ การเสนอตัวเข้ามาของ “พรรคไทยรักไทย”

จุดตัดอย่างมีนัยสำคัญในทางการเมืองก็คือ เมื่อได้ชัยชนะ จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยได้แปร นามธรรมแห่ง”นโยบาย” ไปสู่รูปธรรมทาง”การปฏิบัติ”ที่เป็นจริง

ทำให้พรรคไทยรักไทยแตกต่างไปจากพรรคการเมืองอื่นอย่างสิ้นเชิง

จุดแบ่งก็คือ “พูดแล้วทำ”

ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยทำให้คำว่า “ประชาธิปไตย” ที่กินได้มีความหมาย

ทำให้พรรคประเภท”ดีแต่พูด”พ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง

จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มายังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็ได้เกิดการแปรเปลี่ยนในลักษณะถอยหลัง ยิ่งมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยิ่งถอยหลัง

เป็นการถอยหลังในขณะที่มีการพร่ำพูดเรื่อง ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งๆที่การเมืองยังอยู่ในยุค 0.4

และสัมผัสได้ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

ไม่ว่าจะมีความพยายามรั้งดึงและลากสังคมไทยให้ถอยกลับหลังไปไกลมากเพียงใด แต่ก็มีพรรคการเมืองส่วนหนึ่งไม่สยบ

คำประกาศของพวกเขาก็คือ เขาจะต่อสู้เพื่อเอาชนะคสช.ภายใต้กฎเกณฑ์ที่คสช.กำหนด

นี่คือ เดิมพันการเมืองครั้งสำคัญ ณ เบื้องหน้าประชาชน