E-DUANG : การปะทะ ในสนาม เทคโนโลยี เผด็จการ กับ ประชาธิปไตย

ปฎิกิริยาที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2561 สะท้อนอย่างเด่นชัดถึงความไม่เข้าใจ

1 ไม่เข้าใจ การเมือง การเลือกตั้ง

1 ไม่เข้าใจ การไหลบ่าเข้ามาอย่างรุนแรงและรวดเร็วของเทคโนโลยี

เมื่อไม่เข้าใจก็เกิด “ความกลัว”

ความกลัวนี่แหละที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาและยิ่งทำให้อาการที่เก็บกดภายในสำแดงออก และก็ดำเนินไปตามบทสรุป จากความจัดเจนของ อองซาน ซูจี

นั่นก็คือ ความกลัวทำให้เกิดความเสื่อม

ถามว่าจะสามารถยับยังความเรียกร้องต้องการการเลือกตั้งได้หรือไม่ ถามว่าจะหยุดยั้ง”เทคโนโลยี”ได้หรือไม่

 

จากการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 มายังการเลือกตั้งครั้งหน้าภายในปี 2562 เวลาเพียง 8 ปีมีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นมากมาย

เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในกระแส”รัฐประหาร” 2 ครั้ง

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นำไปสู่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ

จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในยุคคมช. มายังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในยุคคสช.

เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 อาจเพิ่งเข้าสู่ยุค”ดิจิทัล”

แต่พอเหยียบบาทก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2562 เวลาเพียง 8 ปียุคดิจิทัลได้เติบใหญ่ ชูช่อ อรชร เบ่งบาน เป็นอย่างสูง และส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อการเมือง

คนรุ่นใหม่กว่า 7 ล้านคนที่อยู่ใน”ทศวรรษที่หายไป”อันเนื่องจากรัฐประหารกำลังได้รับการปลุก

กระแส”ทวงคืน ประชาธิปไตย” ดังกระหึ่ม

 

พลันที่ปี่กลองการเลือกตั้งโหมประโคมการปะทะระหว่างเก่ากับใหม่ก็สำแดงตัวออกมา

ไม่ว่าในเรื่องความคิด ไม่ว่าในเรื่องการเมือง

พื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นสนามแห่งการเลือกอันแหลมคมคือ พื้นที่ในทาง “เทคโนโลยี” มีความพยายามจะเข้าไปควบคุม ยึดครองด้วยกระบวนการบังคับข่มขู่

จะเป็นไปได้หรือไม่ในยุคที่ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบาน