E-DUANG : แนวรบ หาเสียง การเมือง แนวรบ ผ่าน “เทคโนโลยี”

พลันที่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 13/2561 กำหนดเอาไว้ในข้อ 6 ว่า

“พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อ

สารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆภายในพรรคการเมืองของตนโดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง”

คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 13/2561 ที่ดูเหมือนจะ”คลายล็อก” ก็กลายเป็น “ติดล็อก”ใหม่ขึ้นมา

ความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งอยู่ตรงคำว่า “หาเสียง”

ความขัดแย้งในทางความคิดของพรรคการเมืองกับคสช.ก็ยกระดับเป็นความขัดแย้งในเชิง”เทคโนโลยี”

ทำให้ “การเลือกตั้ง”เพิ่มความแหลมคมมากยิ่งขึ้น

 

มองจากทางด้านคสช.มิได้มีความต้องการเพียงควบคุมในเรื่องของการหาเสียงเท่านั้น

หากอ่านประโยคต่อไปของคำสั่งก็จะสัมผัสได้

“ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัม

พันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ของประชาชน

หรือสั่งการให้ระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้”

ตรงนี้ย่อมทำให้เกิดการปะทะกันอย่างแน่นอนระหว่าง คสช. กกต. กับ พรรคการเมือง

เริ่มจากปะทะในทาง “ความคิด”

ตามด้วยปะทะในทาง “เทคโนโลยี” โดยมี “สื่ออิเล็กทรอนิกส์” เป็นตัวกลาง

บรรยากาศการหาเสียงจึงเริ่ม “มาคุ”

 

ที่จะต้องตามไปดูขั้นต่อไปมิใช่ด้วยการแสดงออกผ่านถ้อยคำราย วัน หากที่สำคัญก็คือ วันที่ 28 กันยายน

กำหนดนัดระหว่าง 1 กกต. 1 พรรคการเมือง

ในสถานการณ์ที่มีพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 เป็นอาวุธ ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้น”พยัคฆ์เสียบปีก”แต่ก็คงไม่งอก่องอขิงอย่างแน่นอน

เป้าหมายมิใช่”กกต.” หากแต่เป็น”คสช.”