E-DUANG : บทเรียน จากกรณี นคร มาฉิม บทเรียน จากกรณี “เกาะเต่า”

ทั้งกลยุทธ์คสช.ต่อ นายนคร มาฉิม ทั้งกลยุทธ์ตำรวจต่อกรณีข่าวข่มขืนแหม่มสาวชาวอังกฤษที่เกาะเต่ามีเป้าหมายเดียวกัน

คือ ต้องการจบ ต้องการยุติ

เมื่อตำรวจออกมาแถลงว่าไม่น่าจะมีเหตุข่มขืนข่าวอันเกิดขึ้นจากสื่ออังกฤษจึงเป็นเรื่องโคมลอย จึงนำไปสู่การแจ้งจับลูกเพจบางเพจ

เมื่อคสช.เห็นว่าการที่ นายนคร มาฉิม พบกับคนจากสหภาพ ยุโรปเป็นพฤติการณ์ไม่เหมาะสม จึงได้ไปเยือน

ทั้งบ้านที่อำเภอเมือง และบ้านที่อำเภอนครไทย

เมื่อคสช.ตัดสินใจทำเช่นนี้ก็คิดว่าจบ เมื่อตำรวจตัดสินใจสรุปและขอหมายจับคนที่แชร์ข่าวก็คิดว่าจบ

คำถามก็คือ จบหรือไม่

 

ใครที่อ่านข่าว ไม่ว่าสื่อหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าสื่อออนไลน์ ก็สามารถตอบได้เลยว่า

ไม่มีวี่แววว่าจะจบ

ยิ่งเมื่อตามเฟซบุ๊คของ นายนคร มาฉิม ยิ่งสัมผัสได้ว่าเขาจะยังเดินหน้าของเขาต่อไป

ไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งได้

ขณะเดียวกัน กลยุทธ์ของตำรวจไม่เพียงแต่ไปก่อเรื่องใหม่กับบรรดามือแชร์ทางโซเชียล ออนไลน์ หากการเคลื่อนไหวของสื่อออนไลน์กลับดำเนินไปในลักษณะบานปลาย

ยิ่งเมื่อ สุทธชัย หยุ่น เฟซบุ๊คไลฟ์กับเพื่อนหนุ่มชาวอังกฤษซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ยิ่งยาวไปอีก

ตัวของแหม่มสาวชาวอังกฤษก็ให้สัมภาษณ์สื่ออังกฤษ

พลันที่รายละเอียดเหล่านี้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านเพจบางเพจซึ่งมียอดวิวเรือนแสนจ่อล้าน ยิ่งโกโซบิก

ความคึกคักย้ายไปอยู่ทางด้าน”ออนไลน์”

 

บทเรียนสำคัญอย่างยิ่งไม่ว่ากรณี นายนคร มาฉิม ไม่ว่ากรณีของแหม่มสาวชาวอังกฤษน่าจะเตือนให้สำเหนียกภูมิทัศน์อันมาพร้อมกับสื่อใหม่

นั่นก็คือ ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะปิดข่าว จบเรื่องโดยง่าย

กลยุทธ์ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งในด้าน”การทหาร”อาจไม่เป็นผลเลยเมื่อนำไปใช้ในด้าน”ออนไลน์”

เพราะความไวดำเนินไปยิ่งกว่าความเร็วของแสง