E-DUANG : ใน “รายรับ” ย่อมมี “รายจ่าย” ใน “ผลได้” ตามด้วย “ผลเสีย”

ความโน้มเอียงในทางความคิด คือ ความโน้มเอียงที่จะเอนไปใน ด้านอันเป็นผลดีกับตนเองมากกว่าผลเสีย

นั่นก็คือ เอนไปในทาง”ได้”

ในทางเป็นจริงก็คือ มองเห็นแต่ในด้านของ “รายรับ” และมองข้ามในด้านของ “รายจ่าย”

เหมือนอย่างกรณี  ยื้อ ถ่วง หน่วง “การเลือกตั้ง”

หากนับจากการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ในที่ประชุมสปช.เมื่อเดือนกันยายน 2558

ผลได้ก็คือเลื่อนการเลือกตั้งมาจนถึงปี 2562

คิดสะระแล้วเท่ากับคสช.และรัฐบาลยื้อเวลาไปได้ 4 ปีสมตามความปรารถนาที่ว่า

“อยากอยู่ยาว”

 

การได้อยู่มาจากเดือนพฤษภาคม 2557 โดยไม่ต้องเลือกตั้งภายปี 2558 ถือว่าประสบความสำเร็จ

ถือว่าเป็น “รายรับ”

หากนับจากเดือนพฤษภาคม 2557 ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ก็ยาวนานถึง 5 ปี

คำถามก็คือ เวลา 5 ปีทำอะไรได้บ้าง

หากรับฟังการแจกแจกจากทำเนียบรัฐบาลก็เหมือนกับว่ามากด้วยผลงานและความสำเร็จ

แต่ถามว่าหากสำเร็จทำไมจึงไม่ยอม”เลือกตั้ง”

นี่ย่อมเหมือนกับคำคุยโวของ”กปปส.”ว่ามี”มวลมหาประชา ชน” เป็นฐานเรือนแสนเรือนล้าน แต่ก็สกัดขัดขวางถึงกับชัตดาวน์ หน้าคูหาไม่ยอมให้”เลือกตั้ง”

การยื้อ ถ่วง หน่วง “การเลือกตั้ง” นั่นแหละจะกลายเป็น”ราย จ่าย”ให้กับคสช.และรัฐบาล

ก่อให้เกิดความสงสัยใน “ผลงาน” และ “ความสำเร็จ”

 

น่าเศร้าก็ตรงที่คสช.สามารถใช้ “กำลัง”ในการยึดอำนาจมาอยู่ในมือได้นับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

แต่”กำลัง”ก็ยังมิอาจสร้าง”ความมั่นใจ”

จากเดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านเดือนพฤษภาคม 2561 มาแล้วก็ยังไม่กล้าเข้าสู่สนาม”เลือกตั้ง”ทั้งๆที่มีรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ ทั้งที่แผ่พลานุภาพแห่ง”พลังดูด”ไปอย่างคึกคัก

ตรงนี้แหละคือ “รายจ่าย” และจะกลายเป็น “ผลเสีย”