E-DUANG : สถานการณ์ “หมูเขี้ยวตัน” ทาง “การเมือง”

สถานการณ์สนามช้าง อารีนา บุรีรัมย์ เดือนเมษายน 2561 ทำให้หลายคนนึกถึงสถาน การณ์หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2535

ระยะเวลาห่างกัน 26 ปี

เป็นสภาพหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 อำนาจอยู่ในมือของ 0143 อย่างเบ็ดเสร็จ

มีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เป็นอาวุธ

มีพรรคสามัคคีธรรมเป็น “กองบัญชาการ”ใหญ่ในการดูดพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ชู พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำตัวจริงของรุ่น 0143 ขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี

เหมือนกับเป็น”ตัวอย่าง”ของ”การดูด”ทางการเมือง

 

ถามว่านักการเมืองยอมเข้าร่วมกับรสช.หนุน พล.อ.สุจินดา ครา ประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี มีข้อต่อรองหรือไม่

มี

ข้อต่อรองแรกก็คือ การผ่อนปรนจากประกาศรสช.ฉบับที่ 42 เรื่องความร่ำรวยผิดปกติของนักการเมือง

ตอนแรกๆก็พ้นเฉพาะตัวเป้งๆ

ไม่ว่าจะในพรรครวมไทย ไม่ว่าจะในพรรคชาติไทย ไม่ว่าจะในพรรคกิจสังคม

จากนั้นก็ส่งคนกล้าบางคนไปนั่งในกระทรวงยุติธรรม

ผลก็คือ ประกาศรสช.ฉบับที่ 42 กลายเป็นโมฆะไม่มีผลปฏิบัติในทางเป็นจริง

ทุกคนหลุดหมด

การยอมเข้าเป็นสมัครพรรคพวกของ “นักการเมือง”มีข้อต่อรองเสมอ

ไม่ว่าเมื่อปี 2535 ไม่ว่าเมื่อปี 2561

 

การทำความตกลงกับ “นักการเมือง” จึงไม่เพียงเป็นเรื่องละเอียด อ่อน หากยังเปี่ยมด้วยความอ่อนไหว

เพราะ “นักการเมือง”ผ่านร้อนหนาวมายาวนาน

ลองสำรวจกระบวนการอันมีการตกลงกับซุ้มชลบุรี ซุ้มสุโขทัย ซุ้มบ้านริมน้ำ ฉะเชิงเทรา รับรองว่าไม่ได้ไปมือเปล่า และไม่ได้กลับมือเปล่า

นี่อาจเป็นเรื่องหมู-หมู แต่บังเอิญเป็น”หมูเขี้ยวตัน”