ล้านนาคำเมือง : ป๋าเวนีเดือนเจ็ด


อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ป๋าเวนีเดือนเจ็ด”

แปลว่า ประเพณีเดือนเจ็ด ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของล้านนา

เดือนเจ็ด (เหนือ) ซึ่งจะเร็วกว่าเดือนทางจันทรคติของภาคกลางประมาณ 2 เดือน ส่วนใหญ่ตรงกับเดือนเมษายน คนล้านนาถือเป็นเดือนแห่งการล่วงเลยของปีเก่า และรับการมาเยือนของปีใหม่

สมัยโบราณล้านนากำหนดเอาเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาเฉลิมฉลองการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่

วันแรกเป็นวันส่งท้ายปีเก่า เรียกว่า วันสังขานต์ล่อง วันนี้คนล้านนาจะทำความสะอาดบ้านเรือน พระพุทธรูป ชำระร่างกายให้สะอาดถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ในยามสิ้นปี

วันที่สองเป็น วันเน่า ถือเป็นวันเชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ เป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเพื่อไปทำบุญที่วัด หรือจะถือว่าเป็น วันดา ก็ได้

วันที่สามเป็น วันพญาวัน ถือเป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนศักราชใหม่ เป็นวันทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และอุทิศส่วนกุศลไปหาญาติผู้ล่วงลับ สรงน้ำพระที่วัด ก่อเจดีย์ทรายและปักตุง

ตอนบ่ายวันนั้นก็จะเริ่มมีการ “ดำหัว” เป็นการขอขมาญาติผู้ใหญ่และขอพรเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างเป็นสิริมงคล

สําหรับปี 2561 ปีจอ จุลศักราช 1380 วันสังขานต์ล่อง หรือวันสงกรานต์ตามคติล้านนา ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 เมษายน ในวันนั้นเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเอง ให้นำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาสระเกล้าดำหัวตนเอง โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

จากนั้นแต่งตัวด้วยเครื่องแต่งกายชุดใหม่ ทัดดอกประดู่ซึ่งเป็นพญาดอกประจำปี ถือกันว่าจะมีวุฒิจำเริญด้วยประการทั้งปวง

จากหนังสือปีใหม่เมืองล้านนาของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์สนั่น ธรรมธิ พยากรณ์ว่า ปีนี้ขุนสังขานต์ทรงเครื่องสีเขียว สวมชฎาต่างกระจอนหู เครื่องประดับเป็นมรกต มี 4 กร ถือหอก หน้าไม้หรือธนู และดาบพระขรรค์ชัยศรี นอนตะแคงมาบนหลังแรด มีนางเทวดาชื่อ ยามา ถือดอกประดู่มารับเอาขุนสังขานต์ไป

ปีนี้นาคให้น้ำ 3 ตัว ฝนตก 300 ห่า ตกที่เขาสัตตบริภัณฑ์และมหาสมุทร 146 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 98 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 56 ห่า ฝนหัวปีดี แต่ปลายปีฝนไม่ดี การเพาะปลูกจะให้ผลดี ข้าวและเกลือจะมีราคาแพง จะเกิดไฟไหม้ ส่วนเสนาอำมาตย์จะเดือดร้อน

พญาไม้ปีนี้ได้แก่ ไม้งิ้ว

คนล้านนาเชื่อว่า หากนำไม้งิ้วมาผูกติดเสาเรือน เสาเอก หรือเสาร้านค้า จะประสบความเจริญรุ่งเรือง เงินทองไหลมาเทมาตลอดทั้งปี