ล้านนาคำเมือง : หนังสือฝากสีโหม้

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “หนังสือฝากสีโหม้”

หนังสือฝากสีโหม้ คือจดหมายที่นายสีโหม้เขียนถึงพ่อและแม่ ระหว่างการเดินทางไปอเมริกา ในระยะเวลาปีเศษ เป็นจำนวน 24 ฉบับ

ในเนื้อความของจดหมายบรรยายสิ่งที่สีโหม้ได้พบเห็นระหว่างเดินทาง และระหว่างที่พำนักอยู่ ณ อเมริกาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพบ้านเมือง ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณีความเจริญต่างๆ ทั้งในอเมริกา และเมืองต่างๆ ที่เดินทางผ่าน

โดยเขียนเป็นภาษาคำเมืองล้านนา ที่อ่านเข้าใจง่าย และเป็นภาษาพื้นเมืองแท้ๆ ซึ่งในขณะนั้นภาษาไทยกลางแบบกรุงเทพฯ ยังไม่แพร่หลายนักในเมืองเชียงใหม่

เนื้อความในจดหมายมีหลายอย่างที่น่าสนใจ แม้สีโหม้จะไม่เคยเล่าเรียนอย่างเป็นทางการ แต่สามารถใช้ถ้อยคำสำนวน มีวิธีเล่าเรื่องให้ชวนอ่าน เปรียบเปรยและช่างสังเกต

โดยได้เปรียบความเจริญของคนอเมริกันเทียบกับกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

จดหมายทุกฉบับเขียนเป็นภาษาล้านนาที่ใช้ในสมัยนั้นดังข้อความตอนหนึ่งหน้าที่ยี่สิบของหนังสือฝากใบที่เก้าความว่า

(…แซนแฟนซิสโก๋นี้ติเสียตี้แผ่นดินบ่อเปียงถนน เมืองกว้างขวางผ่อสุดเจ้นต๋า มีตึกใหย่ตึกสูงก่อนัก มีโฮงจักตี้ธำของต่างๆ ก่อนักนับบ่อแป๊ แต่ก่อนนั้นเขากั๋วแผ่นดินไหวนักจิ่งบ่อมีตึกสูง…)

จดหมายของสีโหม้ทั้ง 24 ฉบับ คณะมิชชันนารีอเมริกันในเชียงใหม่ได้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเป็นอักษรล้านนา โดยพิมพ์ที่โรงพิมพ์อเมริกันวังสิงห์คำ เชียงใหม่ ให้ชื่อว่า “หนังสือฝากสีโหม้ฝากแต่เมืองนอกมาหาพ่อและแม่”

ต่อมาหนังสือ กลายเป็นตำราเรียนที่ใช้ในโรงเรียนชายวังสิงห์คำ ในปี พ.ศ.2437 ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นหลักฐานทางการศึกษาชิ้นสุดท้าย ก่อนที่เชียงใหม่จะสิ้นสุดความเป็นประเทศราชในปี พ.ศ.2442 แล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพายัพ และโรงเรียนต่างๆ ในล้านนาไม่อาจสอนตัวหนังสือล้านนาให้แก่นักเรียนได้อีกต่อไป

ด้วยตระหนักในคุณค่าของจดหมายสีโหม้ ในปี พ.ศ.2496 หนังสือพิมพ์ “คนเมือง” รายสัปดาห์ได้ตีพิมพ์จดหมายดังกล่าวเป็นภาษาไทย

และในปี พ.ศ.2523 นายบุญเสริม สาตราภัย นักเขียนและช่างภาพที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ได้จัดพิมพ์จดหมายทั้งหมดเป็นหนังสือออกเผยแพร่ใช้ชื่อว่า “ศรีโหม้คนเชียงใหม่คนแรกที่ไปอเมริกา”

เวลานี้จดหมายของสีโหม้มีอายุได้หนึ่งร้อยกว่าปีแล้ว

ยิ่งนานวันคุณค่าของเอกสารชิ้นนี้ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น สมควรอย่างยิ่งที่คนเมืองชาวล้านนาจะได้ศึกษาคำล้านนาในอดีต ซึ่งนับวันจะเลือนหายไปมากในปัจจุบัน